เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ที่ 5.25%-5.50% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 22 ปี ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด นับเป็นการกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเป็นครั้งที่ 11 หลังจากหยุดการขึ้นครั้งแรกไปเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
นายเจอโรม พาวเวล ประธานของเฟด ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินดังกล่าว โดยกล่าวว่า ทางด้านเฟดยังคงมีเป้าหมายที่จะทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ซึ่งก็คือระดับดัชนีผู้บริโภค หรือค่า CPI ที่ระดับ 2% และจะต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจนเกิดสภาวะถดถอย ฉะนั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินในอนาคตนั้น เฟดจะตัดสินใจในการประชุมเป็นรายครั้ง ที่จะพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานั้นๆ จึงไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่าอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากจำเป็น ในการประชุมของเดือน ก.ย.ครั้งถัดไป หากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวสนับสนุนให้ดำเนินการเช่นนั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย.หากสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประธานเฟดสามารถยืนยันได้แน่ชัดในเวลานี้คือ ภายในปี 2566 นี้ ทางเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อเราเห็นว่าสถานการณ์เอื้ออำนวยให้ดำเนินการเช่นนั้น โดยคาดว่าจะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ จะมีแต่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันหรือปรับขึ้นเท่านั้น ซึ่งในเวลานี้ จากข้อมูลของ CME Group เปิดเผยว่านักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่คาดว่าเฟดน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 5.25%-5.50% คงเดิมจำนวน 80% ส่วนอีก 20% ในตลาดมองว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือน ก.ย. อีก 0.25%
แล้วเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นอย่างไรต่อไปในปีนี้?
ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐล่าสุด GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 2.4% ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ รวมถึงในไตรมาสแรกตัวเลข GDP ก็แข็งแกร่งกว่าคาดเช่นกัน ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น สอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่ของเฟดคาดการณ์ว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงปลายปีนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวดังกล่าว ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะไม่เผชิญกับสภาวะถดถอย รวมถึงนายพาวเวลได้กล่าวเสริมว่า เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อด้วยการฉุดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟดโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
แต่แม้ตัวเลข GDP ของสหรัฐจะดีขึ้น ก็ยังต้องดูปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย อย่างข้อมูลของทางกระทรวงแรงงานสหรัฐ ที่เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรล่าสุดนั้นเพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย.ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 306,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ค. ส่วนตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.2% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้เฟดพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปได้
ข่าวเด่น