ปตท.สผ.เผยความคืบหน้าการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2566 เป็นไปตามแผนงาน ทั้งการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี 1/61 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน และการเดินหน้าพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ของอนาคต “กรีนไฮโดรเจน” รวมทั้ง การอนุมัติเงินปันผลระหว่างกาล 4.25 บาทต่อหุ้น โดยสามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐประมาณ 42,000 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาประเทศ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในรอบครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทมีความคืบหน้าการดำเนินงานทั้งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและธุรกิจใหม่ โดยสามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) ขึ้นมาอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายไตรมาส 2 ตามแผนงาน เพื่อสนองตอบต่อแนวทางของภาครัฐในการลดผลกระทบด้านต้นทุนพลังงานให้กับประชาชน รวมทั้ง ยังเร่งการเจาะหลุมผลิต และติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 แท่นภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต นอกจากนี้ บริษัทได้ชนะประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบที่ 24 อีก 2 แปลง ได้แก่ แปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว หากค้นพบแหล่งปิโตรเลียม จะสามารถผลักดันการพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ในอนาคต
ด้านความคืบหน้าการลงทุนในธุรกิจใหม่ ปตท.สผ. และ 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำระดับโลกได้ชนะการประมูลสัมปทานการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในแปลงสัมปทาน Z1-02 รัฐสุลต่านโอมาน โดยตั้งเป้าผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 ที่อัตราประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในการเดินหน้าพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่แห่งอนาคตซึ่งเป็นพลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ส่วนการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ปตท.สผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ประมาณ 1.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 ผ่านการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม รวมถึงการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
สำหรับผลประกอบการในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2566 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 4,359 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 148,932 ล้านบาท) มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 452,799 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 446,519 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ส่วนราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทจึงมีกำไรสุทธิ 1,180 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 40,321 ล้านบาท) และยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ไว้ที่ 26.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาที่ร้อยละ 75
อนุมัติจ่ายเงินปันผล 4.25 บาทต่อหุ้น
จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 ที่ 4.25 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 16 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 29 สิงหาคม 2566
นำส่งรายได้ 42,000 ล้านบาท จากการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาประเทศ
จากผลการดำเนินงานในรอบครึ่งปีแรกของปี 2566 ปตท.สผ. สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งอยู่ในรูปภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง โบนัสการผลิต และผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 42,000 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
ข่าวเด่น