· “การหลอกลวงให้ลงทุน” หรือ การสร้างเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อหลอกให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาร่วมลงทุน โดยที่การลงทุนนั้นๆ ไม่มีอยู่จริง ทำให้คนที่ตกเป็นเหยื่อสูญเสียเงินจำนวนมาก เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของการคุกคามทางไซเบอร์
· ประชาชนสามารถสังเกตและระมัดระวังการถูกหลอกลวงให้ลงทุนจาก “พฤติกรรมการหลอกลวงให้ลงทุน” อาทิ
การแอบอ้างชื่อสัญลักษณ์ ผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัท / หน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
การสร้างเรื่องราวลงทุน อาทิ การรู้ข่าววงในทำให้ได้เปรียบนักลงทุนอื่น / ได้รับโอกาสก่อนนักลงทุนรายอื่น หรือ การสร้างเรื่องราวว่ามีผู้ประสบความสำเร็จจากการลงทุนนั้นและยกมาเป็นตัวอย่าง หรือการเร่งรัดให้ตัดสินใจ โดยอ้างข้อจำกัดต่างๆ
การกระตุ้นด้วยผลตอบแทน ที่มีการการันตีว่าให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูง การใช้กลยุทธ์เครือข่ายการหาสมาชิก ชักชวนเพื่อนหรือบุคคลรอบข้างมาลงทุน
· ที่ผ่านมา ทั้งรัฐและเอกชนต่างร่วมมือป้องกันการหลอกลวงให้ลงทุน ทั้งในด้านประเด็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 การอายัดบัญชีม้า การยกเลิกการส่ง link ทาง SMS การทยอยยกเลิกการให้บริการธุรกรรมการเงินผ่านเว็บไซต์ การแลกเปลี่ยนและประชาสัมพันธ์เตือนภัย เป็นต้น
· ตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ร่วมกันดำเนินโครงการ “ร่วมมือ - จับปลอม หลอกลงทุน” ต่อต้านการหลอกลงทุนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน และเพิ่มช่องทางสื่อสารข้อเท็จจริงในประชาชนตรวจสอบข่าวลงทุนต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ไม่ถูกหลอกลวงลงทุน ก็คือ ตัวของประชาชนเอง ตั้งสติ แยกแยะ ตรวจสอบข้อมูล พิสูจน์ให้ชัดเจนก่อนลงทุน และอย่ารีบด่วนโอนเงิน เงินอยู่ที่เราไม่ต้องรีบ ไม่ต้องกลัวเสียโอกาส เพราะมิจฉาชีพอยู่หน้าจอพร้อมโอนเงินของเราออกไปยังบัญชี / กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทันทีที่เราโอนให้
อย่าลงทุน!!! หากพบการชักชวนลงทุนคล้ายพฤติกรรมการหลอกลวงให้ลงทุน ทั้งการแอบอ้างชื่อ อ้างแหล่งข่าวภายใน สร้างเรื่องราวลงทุน กระตุ้นด้วยการการันตีผลตอบแทนในเกณฑ์สูง เร่งรัดให้ตัดสินใจ
จากปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความรุนแรงขึ้น เราในฐานะบุคคลทั่วไปที่ใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและในฐานะพนักงานในองค์กร ไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน ควรร่วมมือกันสร้างความรู้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้างความตระหนักในการระวังภัย และช่วยกัน “เป็นหูเป็นตา” ช่วยกันสอดส่อง เตือนสติบุคคลที่อยู่รอบตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
จากสถิติอาชญกรรมทางไซเบอร์ที่มีการแจ้งความออนไลน์ตามที่ได้นำเสนอมาแล้วในรายงาน “SET Note 10/2566 Cyber Attack โจรที่ติดตามตัวไปทุกที่ กับ Cyber Security ที่ทุกฝ่ายร่วมกันป้องกัน” แสดงให้เห็นว่า “การหลอกลวงให้ลงทุน”1 เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งฝ่ายวิจัยได้สรุปพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงให้ลงทุนจากการรายงานข่าวต่างๆ
(ภาพที่ 1) ไว้เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้สังเกตและระแวดระวังภัย
หากพิจารณาพฤติกรรมการหลอกลวงให้ลงทุน พบว่า มีทั้งเรื่องการปลอมข้อมูล แอบอ้างชื่อผู้บริหารหรือกรรมการของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการสร้างเรื่องราวลงทุน กระตุ้นด้วยการการันตีผลตอบแทนในเกณฑ์สูง สร้างตัวละครเสมือนว่ามีผู้ที่ได้รับผลตอบแทนสูงตามอ้าง เร่งรัดให้ตัดสินใจ และสร้างเครื่องมือปลอมมาใช้ในการหลอกลวงการลงทุน เมื่อถูกหลอกลวงเข้าไปแล้ว มิจฉาชีพจะหลอกลวงโดยให้ผลตอบแทนสูงใน 2 - 3 ครั้งแรก และหลอกให้ลงทุนเพิ่มและชักจูงเพื่อนเข้ามาร่วมลงลงทุนเพิ่มเติม ทำให้การหลอกลวงลงทุนขยายวงขยายใหญ่ขึ้น และเมื่อผู้ถูกหลอกลวงต้องการนำเงินออกจากระบบหรือถอนเงินคืน จะอ้างให้นำเงินไปปิดบัญชีจึงจะนำเงินออกมาได้ และหากไม่สามารถหาเงินมาปิดบัญชีได้ มิจฉาชีพบางรายจะกล่าวอ้างเกณฑ์
การลงทุนขององค์กรต่างๆ เพื่อยึดเงินไปหรือปิดการติดต่อและหนีไป ส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งจากผู้ถูกหลอกลวงลงทุน หรือผู้ที่ถูกชักชวนให้มาร่วมลงทุนในภายหลัง ส่วนหนึ่งที่มิจฉาชีพยังคงใช้วิธีการเดิมได้ เนื่องจาก ผู้ถูกหลอกลวงไม่เชื่อการกล่าวตักเตือนของคนรอบตัว หรือ ผู้ถูกหลอกลวงยังไม่สามารถยอมรับได้ว่าถูกหลอกลวงลงทุนและยังเพิ่มเงินลงทุนต่อไป หรือบางรายพบว่าเมื่อถูกหลอกลวงลงทุนและเกิดความเสียหายขึ้นแล้วแต่ไม่กล้าแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากกลัวเสียหน้าหรือกลัวได้รับคำตำหนิจากคนรอบตัว
จากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายบางกรณี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงาน พบว่า บุคคลที่ถูกหลอกลวงให้ลงทุนมีทั้งผู้มีความรู้การศึกษาระดับสูงและประชาชนทั่วไป “ส่วนใหญ่ประชาชนที่พลาดตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจาก ถูกเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยมิจฉาชีพด้วยการกล่าวอ้างข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้เหยื่อเข้าใจว่าจะพลาดโอกาส ทำให้ขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อมูล” และมีโอกาสติดตามเงินกลับมายากมาก เนื่องจากหลังจากที่เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ (ส่วนใหญ่จะตรวจพบว่าเป็นบัญชีม้า) มิจฉาชีพจะโอนเงินของเหยื่อไปยังบัญชี / กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทันทีและมิจฉาชีพจะโอนเงินต่อไปยังบัญชีอีกหลายทอด ทำให้ยากต่อการติดตามเงินของเหยื่อผู้เสียหายกลับคืนมาได้ 2
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันในประเทศไทยจะบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารอายัดบัญชีปลายทางได้ทันทีที่ทราบ หรือภายใน 72 ชั่วโมง และสามารถแจ้งความได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะได้เงินคืน เนื่องจาก
· ไม่ทัน เพราะรู้ตัวช้าว่าถูกหลอก: เหยื่อผู้เสียหายกว่าจะทราบว่าตัวตนเองถูกหลอกลวง เวลาก็ผ่านไปนานแล้ว
· ไม่ทัน เพราะกระบวนการช้า แต่มิจฉาชีพเร็ว: กรณีผู้เสียหายรู้ตัวเร็วแต่ก็ไม่ทันมิจฉาชีพ เนื่องจาก
ผู้เสียหายต้องประสานงานไปยังธนาคารที่เป็นบัญชีต้นทางหรือธนาคารที่ผู้เสียหายที่ทำโอนเงินออก ผ่านทาง “ศูนย์รับแจ้งภัยมิจฉาชีพทางการเงิน” ของแต่ละธนาคาร (ตามเอกสารแนบ 1) เพื่อขอให้ธนาคารประสานงานไปยังธนาคารปลายทางหรือธนาคารที่รับโอนเงิน เพื่อขออายัดบัญชีของผู้รับโอนเงิน โดยธนาคารของผู้เสียหายจะให้ “Bank Case ID” ให้ผู้เสียหายนำไปเป็นหลักฐานในการส่งแจ้งความในขั้นตอนต่อไป
ในกรณีที่ผู้เสียหายเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ผู้เสียหายต้อง · รอต่อคิวลำดับการให้บริการ · ต้องผ่านกระบวนการสอบสวน และดำเนินการแจ้งความลงบันทึกใน “รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี” · ต้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออก “หมายเรียกพยานเอกสาร และขอยัดบัญชี” ไปยังธนาคารของผู้รับโอน
ต้องเดินทางไปยังธนาคารปลายทาง (สาขาใดก็ได้) เพื่อยื่นรายงานประจำวันฯ และหมายเรียกฯ ต่อธนาคารปลายทาง และรอคิวการดำเนินธุรกรรมที่ธนาคาร จะเห็นได้ว่า กระบวนการที่กล่าวมาขั้นต้นต้องใช้เวลา โดยตั้งแต่กระบวนแจ้งความจนกระทั่งการเดินทางไปยื่นหมายเรียกที่เร็วที่สุด ภายในครึ่งชั่วโมง แต่ก็ไม่ทันการโอนเงินออกจากบัญชีของมิจฉาชีพ ซึ่งจะทำการโอนเงินออกจากบัญชีทันทีที่เหยื่อผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชี
ทุกคนต้องจำไว้ว่า “เงินอยู่ที่เราปลอดภัยกว่า ไม่ต้องรีบด่วนโอนเงิน ไม่ต้องกลัวเสียโอกาส เพราะมิจฉาชีพอยู่หน้าจอ พร้อมโอนเงินของเราออกไปยังบัญชี / กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของมิจฉาชีพทันทีที่เราโอนให้”
ทุกภาคส่วนในประเทศไทยร่วมต้านภัยคุกคามทางไซเบอร์: ภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ร่วมกันดำเนินโครงการ “ร่วมมือ - จับปลอม หลอกลงทุน” ต่อต้านการหลอกลงทุนอย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน และเพิ่มช่องทางสื่อสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนตรวจสอบข่าวลงทุนต่างๆ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน และช่วยกันปิดช่องโหว่ / ช่องว่างที่เกิดขึ้น (ตารางที่ 1) เพื่อลดโอกาสไม่ให้ประชาชนถูกหลอกลวงในการทำธุรกรรมทางการเงิน (เอกสารแนบ 2)
ตารางที่ 1 ความพยายามในการต้านและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
ภาพที่ 2 ตัวอย่าง Facebook ที่แอบอ้างตราสัญลักษณ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ประชาชนรับทราบผ่านทางสื่อของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งใน เว็บไซต์ และ Social Media อาทิ ใน Facebook เป็นต้น และการเผยแพร่รายชื่อสื่อและโซเชียลมีเดียที่เป็นทางการของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงลงทุนโดยสื่อและโซเชียลมีเดียปลอม รวมถึงการเปิดรับข้อมูลการหลอกลวงลงทุนผ่านทาง SET Contact Center หมายเลขโทรศัพท์ 02-009-9999 และได้เผยแพร่วิธีการสังเกตเพจ Facebook ที่เป็นทางการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามภาพที่ 3
ภาพที่ 3 วิธีการสังเกตเพจตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Facebook ที่เป็นทางการ ที่มา: Facebook ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ได้แก่ ก.ล.ต. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกันดำเนินโครงการ “ร่วมมือ - จับปลอม หลอกลงทุน” ต่อต้านการหลอกลงทุนอย่างจริงจัง โดยประสานงานกันเพื่อเตือนภัยผู้ลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน และเพิ่มช่องทางสื่อสารข้อเท็จจริงในประชาชนตรวจสอบข่าวลงทุนต่างๆ นอกจากนี้ หากมีการพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้นๆ หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยสามารถสอบถามไปยังองค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยป้องกันภัยจากการถูกหลอกลวงให้ลงทุน ก็คือ ตัวของประชาชนเอง ตั้งสติ คิดแยกแยะ ตรวจสอบข้อมูล พิสูจน์ให้ชัดเจนจากสื่อที่เป็นทางการของแต่ละหน่วยงาน และอย่ารีบด่วนโอนเงิน เงินอยู่ที่เราไม่ต้องรีบ ไม่ต้องกลัวเสียโอกาส เพราะมิจฉาชีพอยู่หน้าจอพร้อมโอนเงินของเราออกไปยังบัญชี / กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทันทีที่เราโอนให้
ข่าวเด่น