• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 3 สัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน และสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ
• SET Index เผชิญแรงขายตามทิศทางตลาดต่างประเทศ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์
เงินบาทเคลื่อนไหวเป็นกรอบในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยรอบถัดไปของเฟด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 2.25% ในช่วงกลางสัปดาห์ พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางค่าเงินหยวน และสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 4 ส.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (27 ก.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-4 ส.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 7,790 ล้านบาท และมีสถานะ Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 23,910 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 16,687 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 7,223 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (7-11 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.20-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. สถานการณ์การเมืองไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน อาทิ ข้อมูลการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน ทั้งนี้หุ้นไทยขยับขึ้นในช่วงแรก นำโดย แรงซื้อหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งหลังจากผลประกอบการไตรมาส 2/66 ที่ออกมาดีกว่าคาด หุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันตามแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดโลกหลังข่าวเกี่ยวกับการปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ โดย Fitch และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานมีแรงหนุนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ในวันศุกร์ที่ 4 ส.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,530.46 จุด ลดลง 0.83% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 51,769.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.07% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.01% มาปิดที่ระดับ 461.31 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,515 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศและผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย. ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของอังกฤษ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต
ข่าวเด่น