Green Bond หรือตราสารหนี้สีเขียวในไทย แม้ยังเป็นตลาดที่ Economy of Scale ยังไม่เกิดเทียบเท่ากับตราสารหนี้แบบปกติ แต่ก็มีการเติบโตที่เทียบเคียงไปตามการตื่นตัวของคนในสังคมที่หันมาสนใจเรื่องของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 ที่ได้กล่าวไปแล้ว ในส่วนของปี 2565 และปีนี้ ก็มีการเติบโตที่เห็นชัดมากยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างทาง Exim Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ก็เคยเปิดขาย Green Bond เมื่อปีที่แล้วมูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ในปี 2565 เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โครงการพลังงานสะอาด Renewable Energy และธุรกิจ Recycle โดยแบ่งเป็นการเสนอขายพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) 2 รุ่น ชุดที่ 1 มีอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.25% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ตลอดอายุพันธบัตร จำนวน 3 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท และ ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัว Compounded THOR +0.34% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ตลอดอายุพันธบัตร จำนวน 2 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งความสำคัญของ Green Bond จากทาง Exim Bank ที่น่าสนใจคือ Green Bond ทั้ง 2 รุ่น มี ADB เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) อย่างธนาคารออมสินเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตร และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจำหน่ายพันธบัตร และนายทะเบียน อีกทั้งพันธบัตรยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนชั้นนำ อาทิ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) และ กรุงไทย แอกซ่า ประกันชีวิต โดยโตกว่า 2.2 เท่า จากเป้า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการระดมทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดีในช่วงที่ตลาดเงินมีความผันผวนและดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเป็นขาขึ้น เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเริ่มจะได้รับความสำคัญมากขึ้น
รูปจาก SCBAM
จากรูปด้านบนจะเห็นการเติบโตในส่วนของ Green Bond ในไทยอย่างเห็นได้ชัดในปี 2565 และ ปี 2566 ซึ่งในต้นปี 2566 มานี้ ประเทศไทยมีการออก Green Bond ไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท และปี 2565 มีการเติบโตของ Green Bond เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวที่ 42,019 ล้านบาท จาก 28,706 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
แล้วผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมอะไรจาก Green Bond?
ปกติ Green Bond ที่ออกมาในปัจจุบัน ผู้ออกจะมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะเสนอขายให้กับใคร เช่น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนรายย่อยทั่วไป แต่ผลประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับนั้น คือมีแนวโน้มที่จะได้รับการยกเว้นภาษี จากที่มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน ส่วนผลตอบแทนในปัจจุบันจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปเล็กน้อย แต่จะขึ้นชื่อได้ว่าเป็นผู้ลงทุนที่มีส่วนได้ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นคุณค่าหลักที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและให้การยอมรับในปัจจุบัน
ทิศทางอนาคตของ Green Bond จะเป็นอย่างไร?
ข้อมูลจากทาง Krungthai Compass มองว่าตลาด ESG Bond จะมีการเติบโตขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะ Green Bond ตามทิศทางการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่ Green Recovery เช่นในฝั่ง EU มีแผนจะจัดสรรเงินราว 30% ของวงเงิน 750 พันล้านยูโร เพื่อจัดการกับปัญหาโลกร้อนด้วยการออก Green Bond หรือในจีนที่มีแผนยุทธศาสตร์ว่าจะทำให้ประเทศมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573
ส่วนในประเทศไทยก็คาดว่าจะเห็นการเติบโตเช่นเดียวกันกับนานาประเทศ ตามการให้ความสำคัญในเรื่อง ESG ของภาคเอกชน และแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) อีกทั้งการตื่นตัวของผู้บริโภคในตอนนี้ ที่เลือกสรรสินค้าและบริการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กระตุ้นให้ภาคการลงทุนมีแนวโน้มที่จะมีการออก Green Bond มากขึ้นในตลาด ที่เลือกจะสนับสนุนธุรกิจที่ยึดแนวคิดของ ESG มีโอกาสที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุน สามารถขอสินเชื่อผ่าน และดำเนินธุรกิจของตนต่อไปได้อย่างยั่งยืนตามการยึดคุณค่าร่วมกันใน Ecosystem ของระบบเศรษฐกิจ
ข่าวเด่น