จากการศึกษาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จากข้อมูลที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี (แบบฟอร์ม 56-1 One Report) ปี 2565 ของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในดัชนีราคา SET50 Index จำนวน 50 บริษัท พบว่า
· บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเตรียมตัวป้องกันและรับมือจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในรูปแบบ Top-Down Approach กล่าวคือ วางแผนในระดับนโยบายและกระจายลงไปสู่การปฏิบัติในระดับล่าง มีการเสริมสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร
· บริษัทจดทะเบียนปฏิบัติตามแนวตามแนวคิด 3 เสาหลักด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สรุปได้ดังนี้
เสาหลักต้นที่ 1 บุคลากร (people): บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษาตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ และให้ความสำคัญกับให้ความรู้ สร้างความตระหนักเท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์
เสาหลักต้นที่ 2 กระบวนการ (process): บริษัทจดทะเบียนที่ทำการศึกษามีการกำหนดนโยบาย มีการปรับกระบวนงานให้เป็นไปตามมาตราฐานสากลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ มีการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนมีการวางแผนการรับมือ แผนการกู้คืนระบบ ตลอดจนมีการซักซ้อมกรณีที่ต้องโต้ตอบภัยคุกคามทางไซเบอร์
เสาหลักต้นที่ 3 เทคโนโลยี (technology): บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และพัฒนาระบบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการตรวจจับความผิดพลาด เป็นต้น และมีการสุ่มตรวจสอบระบบต่างๆ ให้พร้อมรับมือและสามารถกู้คืนข้อมูล / ระบบได้
· ขณะทั่วโลกเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยในปี 2565 มีปริมาณความต้องการบุคลากรด้านนี้กว่า 3.43 ล้านคน และผู้เชี่ยวชาญคาดว่าปริมาณความต้องการบุคลากรด้านนี้จะคงอยู่ต่อไปในปี 2566 สำหรับประเทศไทยก็มีปัญหาเดียวกัน ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ เพื่อรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ได้เตรียมตัว ประเมินสถานการณ์ เตรียมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์แล้ว ทั้งในด้านบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี และอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ภัยคุกคามทางไซเบอร์ส่งผลกระทบทั้งระดับส่วนบุคคล หน่วยงาน/ องค์กรต่างๆ ทั้งความเสียหายต่อการปฏิบัติงานต่อเนื่องของระบบงาน ความสูญเสียทางการเงิน และความเสื่อมเสียชื่อเสียงของหน่วยงาน / องค์กร และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ในแต่ละประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ออกกฎหมายและ / หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมดูแลป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber treats / Cyber Crime) และมุ่งเสริมสร้างความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security)
ภาพที่ 1 The three-pillar approach to cyber security
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ได้ศึกษาข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของของประเทศ ทั้งจากมุมมองการสร้างรายได้ การจ้างงาน การเสริมสร้างนวัตกรรม และการมีส่วนร่วมในการเสียภาษีนิติบุคคลให้แก่ประเทศ ว่ามีการปรับตัวอย่างไรในการตอบรับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ โดยทำการศึกษาจากข้อมูลที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี (แบบฟอร์ม 56-1 One Report) ปี 2565 ของบริษัทจดทะเบียน1 ที่อยู่ในดัชนีราคา SET50 Index จำนวน 50 บริษัท2 เพื่อทราบถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้บริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็ก และหน่วยงานนอกตลาดหุ้นไทยปฏิบัติตามได้ โดยในการศึกษานี้พิจารณาตามแนวคิด 3 เสาหลักด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (The three-pillar approach to cyber security) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับ การป้องกันข้อมูลและสารสนเทศภายในองค์กร โดยพิจารณาข้อมูลจากการดำเนินการ 3 ด้าน ได้แก่ บุคลากร (people) กระบวนงาน (process) และเทคโนโลยี (technology) สรุปได้ดังนี้
เสาหลักต้นที่ 1 บุคลากร: บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษาตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์และให้ความสำคัญกับให้ความรู้ สร้างความตระหนักเท่าทันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
บริษัทจดทะเบียนที่ทำการศึกษาเกือบทั้งหมด ได้วางแผนการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในรูปแบบ Top-Down Approach กล่าวคือ วางแผนในระดับนโยบายและกระจายลงไปสู่การปฏิบัติในระดับล่าง และในระดับผู้บริหารพิจารณาว่า “ความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์” ถือเป็นกลุ่มความเสี่ยงเกิดใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งแต่ละบริษัทต้องมีการประเมินขนาดและโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมวางแผนการรับมือ
โดยบริษัทบางจดทะเบียนบางบริษัทให้ความสำคัญในการเสริมสร้างให้ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านไซเบอร์เป็นวัฒนธรรมขององค์กร (corporate culture) และกำหนดนโยบายด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และมอบหมายให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะผู้บริหาร หรือคณะทำงาน เป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามนโยบายความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเกือบทุกบริษัทที่ทำการศึกษาดำเนินการให้ความรู้ จัดอบรมสัมมนา จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์3
ภาพที่ 1 การปฏิบัติตาม 3 เสาหลักในการเสริมสร้างความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่อยู่ในดัชนี SET50
ที่มา: แบบฟอร์ม 56-1 One Report ของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี SET50 รวบรวมโดยฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บริษัทจดทะเบียนแห่งละแห่งกำหนดผู้รับผิดชอบที่แตกต่างกันในการดูแลเรื่องความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งสรุปผู้รับผิดชอบได้เป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
· คณะกรรมการ / คณะอนุกรรมการ ที่มีอยู่แล้วเป็นผู้ดูแล โดยปรับนโยบายเพิ่มเติม อาทิ ปรับเพิ่มเติมเรื่องความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการ ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการ / คณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแลกิจการ หรือ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง หรือ คณะกรรมการตรวจสอบ หรือ คณะกรรมการด้านความยั่งยืนกำกับดูแลกิจการและบริหารความเสี่ยง
· คณะกรรมการ หรือ คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่เป็นผู้ดูแล หรือ
· คณะกรรมการบริหารจัดการ Enterprise Architecture เป็นผู้ดูแล
ในระดับปฏิบัติการ บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทที่ทำการศึกษาและเปิดเผยข้อมูลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผ่านการจัดอบรมสัมมนา และการจัดกิจกรรมภายในองค์กร รวมถึงฝึกหัดให้บุคลากรมีความระวังภัยในขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง โดยการสุ่มทดสอบอีเมล์หลอกลวง (Phishing mail) อย่างสม่ำเสมอ และมีการกำหนดจำนวนบุคลากรที่ผ่านการทดสอบเป็นเป้าหมายในการทำการทดสอบอีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่า จากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป) ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนบางบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว หรือบริษัทจดทะเบียนที่มีบริษัทในเครือจำนวนมาก มีการขยายงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในรูปแบบของการจัดตั้งเป็นบริษัทย่อย เพื่อให้บริการเพิ่มเติมแก่ลูกค้า และ / เพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่บริษัทและบริษัทในเครือ
ขณะที่บริษัทจดทะเบียนบางบริษัทจัดกิจกรรมร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือให้ข้อมูลสถาบันการศึกษา ในการปรับหรือพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะ (up-skill) ให้บุคลากรด้านมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์สามารถบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทจดทะเบียนบางบริษัท มีการจัดทำระบบ พัฒนาเนื้อหา จัดทำสื่อการเรียนการสอนในระบบ e-learning เพื่อให้ความรู้ ตระหนักถึงภัย และเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย
เสาหลักต้นที่ 2 กระบวนการ: บริษัทจดทะเบียนที่ทำการศึกษามีการกำหนดนโยบาย มีการปรับกระบวนงานให้เป็นไปตามมาตราฐานสากลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ มีการประเมินความเสี่ยง ตลอดจนมีการวางแผนการรับมือ แผนการกู้คืนระบบ ตลอดจนมีการซักซ้อมกรณีที่ต้องโต้ตอบภัยคุกคามทางไซเบอร์
บริษัทจดทะเบียนเกือบทั้งหมดที่ทำการศึกษาได้เปิดเผยข้อมูลว่า มีกระบวนการประเมินความเสี่ยง มีแผนรับรองภัยคุกคามทางไซเบอร์ และบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลตามระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ อาทิ ISO/IEC27001 เป็นต้น
บริษัทจดทะเบียนที่ทำการศึกษาแต่ละบริษัทมีระดับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือด้านข้อมูลสารสนเทศของแต่ละบริษัทมีความพร้อมรับมือที่แตกต่างกัน โดย
· บางบริษัทได้รับใบรับรองตามมาตรฐานสากลต่อเนื่องหลายปี และอยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น
· บางบริษัทเพิ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล และ
· บางบริษัทปฏิบัติตามมาตรฐานสากลแต่ยังไม่ยื่นขอใบรับรองมาตรฐาน แต่เกือบทุกบริษัทกำหนดนโยบายและคู่มือปฏิบัติด้านความปลอดภัยสารสนเทศ
และบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีการประเมินความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีการวางแผนและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการรับมือ ขั้นตอนในการรับมือ ตลอดจนแผนการในการกู้คืนข้อมูลหรือระบบงาน เมื่อเกิดเหตุจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมีการกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับการซักซ้อมกรณีที่ต้องโต้ตอบภัยคุกคามทางไซเบอร์
เสาหลักต้นที่ 3 เทคโนโลยี: บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และพัฒนาระบบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการตรวจจับความผิดพลาด เป็นต้น และมีการสุ่มตรวบสอบระบบต่างๆ ให้พร้อมรับมือและสามารถกู้คืนข้อมูล / ระบบได้
บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ทำการศึกษา มีการกำหนดนโยบายการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งในด้านอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และเครือข่าย มีการวางแผนนำระบบอัตโนมัติ (Artificial Intelligent / Machine Learning) มาใช้ในกระบวนการตรวจจับความผิดพลาด (Detect process) และมีการตรวจสอบตลอดเวลา
สำหรับระบบต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน มีการกำหนดสุ่มตรวจสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ ทั้ง
· การทดสอบการทำงานของฟังก์ชันงาน (Functional testing)
· การจำลองเหตุการณ์การโจมตีระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Security system) เพื่อที่จะหาช่องโหว่หรือจุดอ่อนของระบบป้องกัน (Penetration testing)
· การตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อค้นหาช่องโหว่ของระบบข้อมูล กระบวนการระบุ ความเสี่ยง จุดอ่อนของระบบ IT องค์กร (Vulnerability scanning) เป็นต้น และบริษัทจดทะเบียนบางบริษัท นอกจากจะพิจารณาความเสี่ยงของระบบงานภายใน พบว่า บริษัทจดทะเบียนบางบริษัทยังพิจารณาถึงระบบอื่นๆ ที่มีการเชื่อมต่อกับลูกค้าหรือหน่วยงานภายนอกด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ขณะนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ได้ประเมินสถานการณ์ เตรียมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์แล้ว และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่นี้จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นพอเป็นแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็ก และหน่วยงานนอกตลาดหุ้นไทยปฏิบัติตามเพื่อพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์
ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นปัญหาใหญ่ที่องค์กรภาครัฐและธุรกิจกำลังเผชิญ และอาจมีแรงกดดันจากการแย่งชิงตัวบุคลากร ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ เพื่อรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีการขยายตัวของการทำงานระยะไกล (Remote Workstation) และการใช้บริการคลาวด์แพลตฟอร์ม ขณะที่ปัญหาจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
ภาพที่ 3 การประมาณการจำนวนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลก ปี 2565 (หน่วย:คน)
ที่มา: (ISC)2 2022 workforce study
จากรายงาน “(ISC)2 2022 workforce study” ที่จัดทำโดย (ISC)2 ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีสมาชิกประกอบด้วยผู้นำด้านความปลอดภัยทางด้านสารสนเทศทั่วโลก ได้ประเมินว่าในปี 2565 มีบุคลากรทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลกประมาณ 4.65 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 11.1% จากปี 2564 (ภาพที่ 3) และถือว่าเป็นสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ (ISC)2 จัดทำรายงาน และมีข้อสังเกตว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีบุคลากรที่ทำงานด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาในอัตราที่สูงกว่าภูมิภาคอื่น คือ เพิ่มขึ้น 15.6 % หรือเพิ่มขึ้น 859,000 คน จากปีผ่านมา4
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยว่า ในปี 2565 ทั่วโลกมีความต้องการบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อีกกว่า 3.43 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.2% จากปีที่ผ่านมา (ภาพที่ 4) โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีปริมาณความต้องการบุลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์สูงขึ้น 2.16 ล้านคน จากปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 63% ของจำนวนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งหมดที่ทั่วโลกต้องการ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ปริมาณความต้องการบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์จะยิ่งเพิ่มขึ้นในปีนี้ (ปี 2566)
ภาพที่ 4 ประมาณการจำนวนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ทั่วโลกต้องการเพิ่มขึ้น ในปี 2565
ที่มา: (ISC)2 2022 workforce study
ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน “2022 Official Cybercrime Report” ที่จัดทำโดยบริษัท Cybersecurity Ventures5 ที่เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีความต้องการบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์สูงขึ้นมาก โดยในปี 2564 ทั่วโลกมีความต้องการบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์สูงถึง 3.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคนในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 3.4 เท่าและในรายงานดังกล่าวยังคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า ปริมาณความต้องการบุคลากรด้านนี้จะยังคงอยู่ และนิตยสาร Fortunes ได้ประเมินว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวจะมีปริมาณความต้องการบุคลากรด้านนี้มากกว่า 700,000 อัตรา
สำหรับประเทศไทย ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นปัญหาใหญ่ที่องค์กรภาครัฐและธุรกิจกำลังเผชิญ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ จากจำนวนข้าราชการในองค์กรภาครัฐ มีอยู่ที่ 400,000 คน แต่มีบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์รวมกันเพียง 4,000 เท่านั้น6 ขณะที่ข้อมูลจากบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2566 มีบริษัทเอกชนประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จำนวน 267 อัตรา
แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้จัดทำโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program)เพื่อพัฒนาขีดความ สามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ให้มีความชำนาญด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์ (NSCA e-learning) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะความรู้ด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และส่งเสริมการสอบใบประกาศนียบัตรและใบรับรองความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล7 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องพัฒนาขีดความสามารถ รวมถึงความรู้และความเข้าใจด้านการรักษาความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อไป ทั้งในระดับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจด้านนี้
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเตรียมตัวป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งในด้านบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อรับมือและกู้คืนระบบให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ เป็นต้น ขณะเดียวกันปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในประเทศไทย และอาจนำซึ่งปัญหาการแย่งชิงบุคลากร ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญในการผลิตบุคลากรด้านนี้เพิ่มเติม เพื่อรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น
ข่าวเด่น