เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : วิกฤตอาหารโลก ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม


ผู้อ่านหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ตอนนี้โลกของเรากำลังเผชิญเข้ากับ วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) เป็นภาวะที่เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงขนาดที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้ระบุว่า วิกฤตอาหารโลกได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา โดยผู้คน 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกสำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเห็นได้จากราคาอาหารและวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ทำให้อำนาจจับจ่ายใช้สอยของผู้คนทั่วโลกนั้นลดลง 

แต่หากมองไทม์ไลน์ย้อนหลังไปอีก จะพบว่าราคาของอาหารนั้นมีราคาแพงขึ้นมาตลอด สอดคล้องกับข้อมูลของ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงแนวโน้มการเปิดวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก โดยรายงานว่า ดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) หรือดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้า อาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล มีค่าเฉลี่ยรวมทั้งปี 2564 อยู่ที่ 125.7 เพิ่มขึ้น 28.1% เทียบกับปี 2563 ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนเฉพาะในเดือนธันวาคม 2564 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 133.7 จากระดับ 134.9 เทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเดือนที่ 4 ที่ดัชนีเพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นระดับที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี เช่นกัน 

ในส่วนของปี 2565 FAO เผยว่าดัชนีราคาอาหารในเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน และราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน 2565 ตามดัชนีราคาอาหารของ FAO นอกจากนี้ จากรายงานของ Global Report on Food Crises 2022 ล่าสุดระบุว่า ประชากรเกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน โดยมีสาเหตุจากความไม่สงบทางสังคมและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

โดยหากจำแนกสาเหตุที่ทำให้โลกของเราเผชิญเข้ากับวิกฤตอาหารโลก ก็จะเห็นได้ชัดจากปี 2565 ที่เป็นปีเข้าสู่วิกฤตดังกล่าวอย่างเป็นทางการ อย่างผลพวงของภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง ทำให้ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อนำไปประกอบอาหารรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าวสาลี คิดเป็น 30% ของตลาดโลก น้ำมันพืชจากเมล็ดดอกทานตะวัน คิดเป็น 80% ของตลาดโลก ข้าวโพด คิดเป็น 19% ของตลาดโลก อีกทั้งราคาก๊าซที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากการที่รัสเซียผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐและประเทศพันธมิตรฝั่งตะวันตก ทำให้เรื่องของการขนส่งที่เป็นส่วนสำคัญของ Supply Chain ของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นตัวการที่ทำให้ของมีราคาแพงขึ้นนั่นเอง
และนอกจากสินค้าเกษตรจะแพงขึ้นแล้ว ราคาปุ๋ยซึ่งเป็นวัตุดิบสำคัญในการเพาะปลูกก็แพงขึ้นเช่นกัน จากการที่ก๊าซเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตแอมโมเนียในปุ๋ย ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ ต้นทุนของผลิตภัณฑ์การเกษตรทั่วโลกส่วนใหญ่จึงสูงขึ้นด้วย เพราะผลผลิตที่ได้นั้นต่ำกว่าปกติ

และสุดท้ายคือเรื่องของสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ทุกคนทราบกันดี ซึ่งสภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศในหลายประเทศแปรปรวนอย่างหนัก ดังนั้นก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศเกิดความเสียหาย ฉะนั้นดัชนีราคาอาหารโลกนั้นเริ่มมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนจะมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว สอดคล้องกับนักวิทยาศาสตร์ Julian Cribb ยังได้ออกมาเตือนว่า สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในทั่วโลกนี้จะทำให้มนุษย์ขาดแคลนอาหาร จนกระทั่งอาหารหมดโลกภายในปี 2593 อีกทั้งสถาบันทรัพยากรแห่งโลก ยังได้รายงานว่า ในปี 2593 จะต้องมีการผลิตอาหารเพิ่มถึง 50% ของปัจจุบัน ถึงจะสามารถรองรับจำนวนประชากรได้ 

ผลกระทบที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแมลงศัตรูพืช ภัยแล้ง เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น และหากอุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ตอนนี้ นโยบายปกป้องตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Protectionism) เริ่มแพร่หลายไปในหลายประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคภายในประเทศก่อนการส่งออก เช่น ที่ผ่านมา อินโดนีเซียจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มจนถึง 31 ธันวาคม 2565 หรือมาเลเซีย ที่จำกัดการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและไก่ จำนวน 6 ล้านตัวต่อเดือน เป็นต้น ดำเนินมาจนถึงตอนนี้ที่ในอีกหลายๆประเทศเริ่มมีการวางแผนตั้งรับด้วยการใช้นโยบายดังกล่าวแม้จะไม่ได้อยู่ในช่วงสงครามก็ตาม ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตที่ไม่แน่นอนนี้ เราอาจจะต้องเผชิญกับราคาอาหารที่แพงขึ้นกว่าในปัจจุบันอีกก็ได้
 

 


LastUpdate 14/08/2566 13:20:44 โดย : Admin
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 9:32 am