การค้า-อุตสาหกรรม
'ส. ขอนแก่นฟู้ดส์' ผนึกความร่วมมือ วว. และ สจล.พัฒนากล้าเชื้อในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารหมัก ต่อยอดงานวิจัยสู่การนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เดินหน้าพัฒนาสินค้าไทยสู่ตลาดโลก


‘ส. ขอนแก่นฟู้ดส์’ หรือ SORKON ผนึกความร่วมมือพัฒนากล้าเชื้อในผลิตภัณฑ์อาหารหมัก ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาและเสริมคุณประโยชน์ผลิตภัณฑ์ ช่วยเร่งกระบวนการหมัก คงคุณภาพและมาตรฐานให้กับสินค้าเมื่อใช้กล้าเชื้อในการผลิต คาดผลักดันให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/66 พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนากล้าเชื้อแบบผง รองรับการขยายตลาดต่างประเทศในอนาคต

ดร. เจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์รายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การวิจัยและพัฒนากล้าเชื้อผลิตภัณฑ์อาหารหมัก ได้แก่ กลุ่มสินค้าแหนม ไส้กรอกอีสาน ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือทางงานวิจัยระหว่างทั้ง 3 องค์กร และนำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กล้าเชื้อในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารหมักมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและแบรนด์ ด้วยรสชาติและคุณประโยชน์ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์แบรนด์อื่น ๆ

บริษัทฯ ได้ทำการวิจัยกล้าเชื้อจุลินทรีย์สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารหมักมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาคุณสมบัติในการเป็นโพร- ไบโอติกส์ของกล้าเชื้อ ร่วมกับ สจล.และวว. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีการอาหาร ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความปลอดภัย สามารถคงคุณภาพและยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ดียิ่งขึ้นเมื่อใช้กล้าเชื้อในการผลิต

ทั้งนี้ กล้าเชื้อจุลินทรีย์มีคุณสมบัติช่วยเร่งกระบวนการหมักทำให้เกิดรสชาติเปรี้ยวในผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น 25-30% ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในอาหารหมัก ทำให้มีคุณสมบัติทางประสาทสัมผัส และกลิ่นรสที่ดี เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ ส.ขอนแก่น ที่สำคัญคือควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐานคงที่ สะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยจะผลักดันให้งานวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/2566 และในอนาคตคาดว่าจะมีการพัฒนากล้าเชื้อแบบผง เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในแผนการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติมในอนาคต

“ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารหมักเพื่อรองรับมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น พร้อมทั้งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้ผลิตภัณฑ์หมักของสินค้าอาหารไทย ต่อยอดผลงานวิจัยด้วยการพัฒนากล้าเชื้ออาหารหมักที่มีคุณสมบัติเป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติกเพื่อนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารหมักในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นฯ ศึกษาเชิงลึกด้านการวิจัยและพัฒนาอาหารอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในอนาคต จะสามารถนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เพื่อร่วมยกระดับอาหารไทยให้ไปไกลสู่ระดับโลก” ดร. เจริญ กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ส.ค. 2566 เวลา : 11:23:27
25-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 25, 2025, 1:33 am