• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามทิศทางเงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่ารับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด
• SET Index ปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศท่ามกลางปัจจัยลบ อาทิ ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจจีน และการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่ถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ออกมาอ่อนแอ ประกอบกับมีสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับโครงการเงินกู้ระยะกลางอายุ 1 ปีลง นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติในระหว่างรอความชัดเจนของประเด็นทางการเมืองในประเทศ
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขยับแข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากบันทึกการประชุมเฟดที่สะท้อนสัญญาณกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินหยวนฟื้นตัวขึ้นบางส่วนตามการส่งสัญญาณผ่านการกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนของธนาคารกลางจีน
ในวันศุกร์ที่ 18 ส.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ส.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,305 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 12,096 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 8,384 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 3,712 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (21-25 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.00-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และปัจจัยทางการเมืองของไทย สัญญาณเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนของจีน และสุนทรพจน์ของประธานเฟดจากงานประชุมสัมมนาประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ค.ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค.นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และข้อมูล PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ โดยในช่วงแรกหุ้นไทยปรับตัวลงเนื่องจากความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณชะลอตัวลง และธนาคารหลายแห่งของสหรัฐฯ อาจถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือโดยฟิทช์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงระหว่างสัปดาห์ จากความคาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดีหุ้นไทยพลิกร่วงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และการยื่นล้มละลายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน
ในวันศุกร์ที่ 18 ส.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,519.12 จุด ลดลง 1.04% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 54,486.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.90% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.24% มาปิดที่ระดับ 458.69 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ของไทย สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือนก.ค. ดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนส.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน
ข่าวเด่น