เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75 – 84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 - 25 ส.ค. 66)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งประกาศออกมาในเดือน ก.ค. 66 ยังคงอ่อนแอ นอกจากนี้ภาคการเงินของจีนยังคงเผชิญกับปัญหาการผิดชำระหนี้ของบริษัท Country Garden ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ และ Zhongrong International Trust หนึ่งในบริษัททรัสต์รายใหญ่ที่สุดในของจีน ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญความไม่แน่นอน หลัง Fitch rating ส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับลดอันดับเครดิตในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ด้านอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไนจีเรียและอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
ตลาดยังคงกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจของสำนักเศรษฐกิจแห่งชาติของจีน (NBS) เผยว่า ดัชนียอดค้าปลีกขยายตัวเพียง 2.5% ในเดือน ก.ค. 66 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.1% และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 4.5% เช่นเดียวกับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.7% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4.4% ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอดังกล่าวมีทิศทางเดียวกับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ, ดัชนีผู้จัดฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต, ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือน ก.ค. ซึ่งประกาศออกมาในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า 
 
 
Zhongrong International Trust หนึ่งในบริษัททรัสต์รายใหญ่ของจีน ผิดชำระหนี้ให้กับลูกค้า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังบริษัท Country Garden ซึ่งถือเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน มีปัญหาการผิดชำระหนี้หุ้นกู้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ถึงปัญหาในภาคการเงินของจีน ส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางประเภท 1 ปี (MLF) ลงจาก 2.65% เป็น 2.50% โดยการลดดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน
 
 
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญความไม่แน่นอน หลังนักวิเคราะห์ของ Fitch Rating เผยว่า อาจมีการปรับลดอันดับเครดิตของภาคธนาคารกลางสหรัฐฯ ลง จากระดับ AA- สู่ระดับ A+ ซึ่งหากการปรับลดมีขึ้นจะส่งผลให้ธนาคารขนาดใหญ่ อันได้แก่ JP Morgan และ Bank of America จะถูกปรับลดเครดิตเช่นเดียวกัน เนื่องจากอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารจะไม่สามารถสูงกว่าอันดับเครดิตของภาคธนาคารได้ การเปิดเผยนี้มีขึ้นภายหลัง Moody ปรับลดอันดับความน่าเชื่อของธนาคารขนาดเล็กและกลางของสหรัฐฯ กว่า 10 แห่ง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
 
อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวลดลง เนื่องจากท่าส่งออกน้ำมันดิบ Forcados ของไนจีเรีย ซึ่งมีการส่งออกที่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามารถกลับมาส่งออกได้ตามปกติ ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่าน เดือน ส.ค. 66 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าเดือนก่อนหน้าราว 0.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในดือน ก.ย. 66 
 
 
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 6.8% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 7.9% และถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี ในไตรมาสที่ 2/66 มีการเติบโตที่ระดับ 0.2 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และถือเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/65
 
 
ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRICS) อันประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีนและแอฟริกาใต้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ส.ค. นี้ โดยการประชุมครั้งนี้จะมีการพิจารณาเพื่อรับสมาชิกใหม่จำนวน 22 ชาติ ซึ่งชาติดังกล่าวรวมถึงชาติมหาอำนาจในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (OPEC) อันได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อันได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน ส.ค. 66 และยอดขายบ้านเดือน ก.ค. 66 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน ส.ค. 66 ของยุโรป
 
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 - 18 ส.ค. 66)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 2.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 84.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 85.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. 66 ที่ผ่านมาว่าคณะกรรมการเฟด มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด แสดงถึงความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้ จากรายงานประชุมของคณะกรรมการเฟด ยังคงให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับเงินเฟ้อเป็นลำดับต้นๆ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดอาจจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. แต่อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ย. อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 ส.ค. 66 ปรับตัวลดลงกว่า 5.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 439.7 ล้านบาร์เรล โดยปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.3 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ส.ค. 2566 เวลา : 11:55:06
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 7:23 am