ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี2566 ยังมีประเด็นท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาภัยแล้ง และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลทำได้เร็วขึ้นก็น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวในกรอบ 3.0-3.5%
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.8% YoY ขณะที่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2566 ขยายตัวได้เพียง 0.2% QoQ จากไตรมาสที่ผ่านมา รวมครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2% YoY ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2/2566 มีปัจจัยกดดันหลักมาจากการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐที่ปรับตัวลดลงตามการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่ลดลง อีกทั้ง การลงทุนภาคเอกชนก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สอดคล้องกับภาคส่งออกและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2566 ยังคงได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของครัวเรือนรายได้ปานกลาง-สูง สะท้อนผ่านยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
เมื่อมองในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีน ปัญหาภัยแล้ง และโมเมนตัมการใช้จ่ายที่ชะลอลงคาดว่าเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3.7% ลงมาอยู่ในกรอบการประเมินเบื้องต้นที่ 3.0-3.5% ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไทยในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลึกขึ้นกว่าประมาณการเดิมที่ -1.2% อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงกว่าที่เคยประเมิน นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ภาคเกษตร ขณะที่โมเมนตัมการใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะอ่อนแรงลงตามรายได้การเกษตรที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ค่าครองชีพยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่าเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งรัฐบาลทำได้เร็วขึ้น ในภาพรวมก็น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แม้ว่าจะความเสี่ยงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่อาจเข้ามาน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ในภาพรวมทั้งปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ในกรอบประมาณการเบื้องต้นที่ 3.0-3.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.7% โดยทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังมีประเด็นท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาภัยแล้ง และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หากการจัดตั้งรัฐบาลทำได้เร็วขึ้นก็น่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวในกรอบ 3.0-3.5%
ข่าวเด่น