กลุ่มทิสโก้ ร่วมกับ กรมป่าไม้ และชุมชนวัดวังก์วิเวการาม ลงพื้นที่ติดตามการปลูกป่าในโครงการ “ปลูกป่าถาวรทิสโก้ อำเภอสังขละบุรี” ที่ดำเนินการมานับตั้งแต่ปี 2534 เพื่อวัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ พร้อมประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคำนวณปริมาณคาร์บอนสะสมประจำปี โดยมีคุณกิตติมา อัศวเรืองชัย (ขวา) หัวหน้าหน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมกลุ่มทิสโก้ นำทีมในการลงพื้นที่ และคุณอรัญญา เจริญหงส์ษา (กลาง) รองนายกเทศมนตรีตำบลวังกะ ในฐานะผู้นำชุมชนมาช่วยให้ข้อมูล
สำหรับโครงการปลูกป่าถาวรทิสโก้ บริเวณพื้นที่โดยรอบวัดวังก์วิเวการาม อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่กลุ่มทิสโก้และประชาชนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันดูแลมาตลอดระยะเวลา 33 ปี (นับตั้งแต่ปี 2534) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 แปลง โดยในปี 2566 กลุ่มทิสโก้ ได้ยื่นขอการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการสนับสนุนก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) จำนวน 3 แปลง พื้นที่ 166 ไร่ และมีต้นไม้จำนวน 70,000 ต้น ซึ่งได้รับการประเมินว่า มีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกรวม 32.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูลผลประเมิน ณ วันที่ 7 มิ.ย. 2566)
ในส่วนของพันธุ์ต้นไม้ในพื้นที่ทั้ง 166 ไร่ดังกล่าว ประกอบด้วย ต้นสัก 63% ต้นแดง 13% ต้นมะขามป้อม 8% ต้นสะเดา 7% และต้นไม้ชนิดอื่นๆ 9% ซึ่งต้นไม้ใหญ่ที่มีขนาดเส้นรอบวงลำต้น 51-100 ซม.มีสัดส่วนมากถึง 60% ต้นไม้ที่มีความสูงเฉลี่ย 10-20 เมตร มีสัดส่วนถึง 68% ในขณะที่ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีความสูงอยู่ที่ 30-40 เมตร และมีเส้นรอบวงลำต้นอยู่ที่ 201-300 ซม. ขณะเดียวกัน กลุ่มทิสโก้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมร่วมกับชุมชนในการปลูกไม้แดง เพื่อใช้ในการซ่อมแซมสะพานมอญในอนาคตด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มทิสโก้ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยการแปลงแนวคิดอนุรักษ์ผืนป่าสู่การปฏิบัติจริงและมุ่งหวังให้เกิดผลที่ยั่งยืน ด้วยการปลูกกล้าไม้ในจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้คุณค่าของป่าไม้ในท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “ป่าอยู่รอด คนอยู่ได้” เป็นแนวทางสร้างกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่า ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เพชรบุรี นครนายก สมุทรปราการ นครสวรรค์ และนครราชสีมา โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมป่าไม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในชุมชน ในการเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสม ช่วยกันดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งสนับสนุนกล้าไม้ที่จะนำไปใช้ปลูก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (Net Zero Emission 2050) ในสโคป 1 และ 2 ตามนโยบายของ Sustainability Development Goals (SDGs)
ข่าวเด่น