บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยฟื้นตัว หลังการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเชื่อมั่น และรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,520-1,600 จุด แนะลงทุนใน 7 หุ้นเด่นได้ประโยชน์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ TNP-KK- CPALL-CPAXT-STEC-CK-ITD
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้คาดว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้น โดยมีแรงหนุนจากการเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้น หลังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงให้กรอบการแกว่งตัวของดัชนีที่ 1,520-1,600 จุด
ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) แถลงสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ๊กสัน โฮส รัฐไวโอมิง ส่งสัญญาณขึ้นหรือคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเพื่อสกัดเงินเฟ้อแม้ว่าจะชะลอตัวลงแต่ยังคงอยู่ที่ระดับสูง ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 78.5% ที่ FED จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 21.5% ที่ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% สำหรับการประชุมในเดือนพ.ย. นักลงทุนให้น้ำหนัก 51% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% และให้น้ำหนักเพียง 38% ที่ FED จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ขณะที่ให้น้ำหนัก 11% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.75-6.00%
ด้านเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาด ขณะที่กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนในเดือนก.ค. ปรับตัวลง 6.7%YoY ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 7 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ ส่วนเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจในเดือนก.ย. จากการส่งออกที่ชะลอตัวและภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงฉุดกำลังซื้อ รวมทั้งการที่ตลท.สรุปมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 สิงหาคม 2566 พบว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิสูงถึง 1.31 แสนล้านบาทเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในปีนี้
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ วันที่ 31 ส.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยต่างประเทศ อาทิ วันที่ 29 ส.ค. สหรัฐ รายงานราคาบ้านเดือนมิ.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการ
หมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.จาก Conference Board วันที่ 30 ส.ค. สหรัฐ รายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค. GDP 2Q66 (ประมาณการครั้งที่ 2) ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนก.ค. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ วันที่ 31 ส.ค. จีน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนส.ค. และอียู รายงานอัตราว่างงานเดือนก.ค. พร้อมทั้งสหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ค. ส่วนวันที่ 19-20 ก.ย กำหนดประชุม FED ครั้งถัดไป
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 7 หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ TNP, KK, CPALL, CPAXT, STEC, CK และ ITD และหุ้นได้ประโยชน์จากกรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล ได้แก่ TU, ASIAN, TC และ CFRESH
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมทองคำสัปดาห์นี้ว่า ยังคงต้องจับตาการประกาศตัวเลขภาคแรงงานและดัชนีเงินเฟ้อส่วนบุคคลของสหรัฐ หากตัวเลขที่ประกาศออกมาสูงกว่าคาดการณ์จะมีผลให้ FED คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจะเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำ
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังทรงตัวเหนือระดับ 3% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ 2% เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยระหว่างสัปดาห์มองราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบ 1,885-1,930$/oz คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้
ข่าวเด่น