เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "เงินบาทขยับแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน"


 · เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ แต่ทยอยแข็งค่ากลับมาท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนก.ย. นี้


· SET Index ขยับขึ้นช่วงต้น-กลางสัปดาห์จากปัจจัยหนุนทั้งในและต่างประเทศ แต่ย่อตัวลงในเวลาต่อมาตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาททยอยแข็งค่า หลังอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ประกอบกับน่าจะมีแรงกดดันบางส่วนจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลง หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด (อาทิ การเปิดรับสมัครงานเดือนก.ค. และการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เดือนส.ค.) ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดอาจยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบเดิมที่ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. นี้

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลงในช่วงปลายสัปดาห์ เพราะแม้จะมีแรงหนุนจากสัญญาณการดูแลเงินหยวนของทางการจีน (ธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองสำหรับสกุลเงินตราต่างประเทศ และประกาศอัตราอ้างอิงเงินหยวนประจำวันแข็งค่ากว่าระดับที่ตลาดประเมินไว้) แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีแรงกดดันจากแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 1 ก.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ส.ค.)สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 28 ส.ค.–1 ก.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,263 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 6,523 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 5,867 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 656 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (4-8 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการเดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย ตัวเลขการส่งออกเดือนส.ค. ของจีน และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ระดับ 1,579.43 จุดช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบกับมีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยหลังข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นำโดย หุ้นกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ ข่าวการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบจ. บางแห่งก็มีส่วนกดดันบรรยากาศการลงทุนช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 1 ก.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,561.51 จุด เพิ่มขึ้น 0.08% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,542.49 ล้านบาท ลดลง 3.59% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.55% มาปิดที่ระดับ 484.59 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ1,540 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค.ของไทย สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการบริการเดือนส.ค. ตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. รายงาน Beige Bookของเฟด ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขส่งออกเดือนส.ค.ของจีน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ก.ย. 2566 เวลา : 14:14:25
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 5:28 am