ในเดือนส.ค.66 ดัชนี KR-ECI และดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 36.2 และ 38.9 โดยในเดือนนี้ครัวเรือนมีระดับความกังวลลดลงในด้านรายได้และการจ้างงานโดยเริ่มเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นขยายไปนอกภาคบริการและภาคเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ดี ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและภาระในการชำระหนี้อยู่ เนื่องจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนในการก่อหนี้เพิ่มเติมของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ 78.8% ยังไม่มีแผนที่จะก่อหนี้เพิ่มเติม ขณะเดียวกันกลุ่มที่คาดว่าจะมีการก่อหนี้เพิ่มเติมต้องการนำเงินไปเสริมสภาพคล่องมากที่สุด 33.0% รองลงมาเป็นการก่อหนี้เพื่อนำมาประกอบธุรกิจ ซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และซื้อบ้าน/ที่พักอาศัย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ดัชนี KR-ECI ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีกว่าไตรมาสที่ 2/2566 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาคท่องเที่ยว ประกอบกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความชัดเจนแล้วก็อาจช่วยหนุนมุมมองที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ อาทิ ภัยแล้งจากเอลนีโญ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่อาจเป็นปัจจัยกดดันดัชนีฯ ให้ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง
ดัชนี KR-ECI เดือนส.ค.66 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แม้ความกังวลด้านรายได้และจ้างงานลดลง แต่ความกังวลด้านราคาสินค้าและภาระการชำระหนี้ยังคงอยู่
ในเดือนส.ค.66 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ทรงตัวที่ 36.2 จากเดือนก.ค.66 หลังปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 36.0 ขณะที่ดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้ายังคงทรงตัวเป็นเดือนที่ 4 ต่อเนื่องที่ 38.9 จาก 38.8 ในเดือนก.ค.66 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่ โดยเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่าครัวเรือนมีความกังวลลดลงเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการที่ยังขยายตัวได้โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว โดยสถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวไปนอกภาคบริการและเกษตรกรรมมากขึ้น สะท้อนผ่านข้อมูลผู้มีงานทำในกลุ่มการขายส่งและการขายปลีก การผลิต และการก่อสร้างเดือนก.ค.66 ที่ปรับดีขึ้นจากเดือนมิ.ย.66 อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนไทยดูเหมือนจะมีความกังวลเพิ่มขึ้นในด้านราคาสินค้า โดยครัวเรือนไทยยังคงต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม อาทิ ราคาสินค้าเกษตรที่อาจปรับขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณผลิตลดลง รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวน นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาระในการชำระหนี้ โดยในไตรมาส 1/2566 ครัวเรือนมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง สะท้อนผ่านสัดส่วนของหนี้เสียหรือหนี้ที่มียอดค้างชำระมากกว่า 3 เดือน (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย โดยหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยผลสำรวจพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ (78.8%) ยังไม่มีแผนที่จะก่อหนี้เพิ่มเติม ทั้งนี้ สำหรับครัวเรือนอีกส่วนหนึ่ง (21.2%) ที่มีแผนต้องการก่อหนี้เพิ่มเติมต้องการนำเงินกู้ดังกล่าวไปเสริมสภาพคล่องมากที่สุด 33.0% รองลงมาเป็นการวางแผนกู้เงินนำไปลงทุนเพื่อมาประกอบกิจการ 27.8% การซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ 21.7% และการซื้อบ้านหรือที่พักอาศัย 12.7% นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีแผนที่จะนำเงินกู้ไปใช้ในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ค่าการศึกษา และค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูงในขณะนี้จึงอาจมีผลต่อการตัดสินใจของครัวเรือนในการก่อหนี้เพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ดัชนี KR-ECI ยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2566 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยวซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนมุมมองด้านรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนไทย นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความชัดเจนแล้ว หลังสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยได้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 และคาดว่าจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในช่วงต้นเดือนก.ย.66 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในข้างต้นรัฐบาลชุดใหม่จะมุ่งเน้นไปที่มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพและการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายของปีนี้ก่อน ซึ่งก็อาจช่วยบรรเทาความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในระยะข้างหน้าได้ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของดัชนีฯ ยังคงต้องเผชิญกับหลายปัจจัยท้าทาย อาทิ ภัยแล้งจากผลของปรากฎการณ์เอลนีโญในระยะข้างหน้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าคาดซึ่งอาจกดดันเศรษฐกิจไทยผ่านภาคท่องเที่ยวและการส่งออกไทย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2566 ดัชนี KR-ECI ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (เดือนส.ค.66) และดัชนี 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวอยู่ที่ 36.2 และ 38.9 จากเดือนก.ค.6 อยู่ที่ 36.0 และ 38.8 ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน แต่ในระยะข้างหน้าดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับปัจจัยหนุนจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความชัดเจนแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายอื่น ๆ อาทิ ภัยแล้ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้ดัชนีฯ ฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง
ข่าวเด่น