แบงก์-นอนแบงก์
ออมสิน ปักหมุด Net Zero ภายในปี 2050 ประกาศใช้ ESG Score แบงก์แรก ชูแผน ไม่สนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


 

ออมสิน ประกาศปักหมุด Net Zero หรือแผนการดำเนินงานเพื่อมุ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจธนาคารสุทธิเป็นศูนย์ ที่ตั้งเป้าดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2050 ผ่าน Roadmap เพื่อวัด ผลการดำเนินงานเป็น 3 Scope ด้วยกัน ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารเองจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้าในองค์กร 3% และการลดการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจอีก 97% โดยระยะแรกตอนนี้ ได้มีการใช้ ESG Score เป็นเกณฑ์ปล่อยกู้ลูกค้ารายใหญ่

 
 
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารออมสินได้มีมติอนุมัติแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ทั้ง 3 Scope ภายในปี 2050 โดยในอีก 7 ปีข้างหน้าตั้งเป้า Net Zero สำหรับ Scope 1 และ 2 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธนาคารจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า เช่น การใช้พลังงานสะอาด ที่จะปรับการใช้รถเป็นรถ EV ภายใน 3 ปีของเขตกรุงเทพและปริมณฑล การติดตั้งระบบ Solar Rooftop ที่สาขาและอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคาร โครงการปลูกป่าเพื่อชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครง การ Community Waste Bank ร่วมกับ UNDP โครงการธนาคารปูม้าส่งเสริมประมงยั่งยืน และแผนการปรับการปฏิบัติงานภายในให้เป็นต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมาย ขณะที่ Scope 3 ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน ธนาคารจะดำเนินการคู่ขนานจนสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลงได้มากกว่า 50% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

 
 
ทั้งนี้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสินกว่า 97% มาจากการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน (Scope 3) ซึ่งมีการจัดเก็บและคำนวณได้จากวิธีการตามมาตรฐาน Science-Based Target Initiative ที่เป็นการประเมินคาร์บอนโดยใช้วิธีทางวิทยาศาตร์แบบเจาะลึกอย่างสากล โดยนับจากนี้ไป ธนาคารได้กำหนดแผนงดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (No Coal and Coal Related Business) ซึ่งในระยะแรก ภายในปี 2030 ออมสินมีเป้าหมายว่าจะต้องก๊าซลดคาร์บอนไดออกไซด์จาก Scope ดังกล่าวให้ได้ไม่ต่ำกว่า 42% ด้วยการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซของธุรกิจ อย่างโรงงานพลังงานไฟฟ้า กำหนดว่าต้องเป็นพลังงานสะอาด 35% ของพอร์ตในปี 2030 และ 60% ในปี 2040 หรือบริษัทอื่นๆที่มีแผน Net Zero จะต้องดำเนินงานสำเร็จอยู่ที่ 40% ของพอร์ตในปี 2030 และ 100% ในปี 2040 

 
 
ซึ่งเกณฑ์การวัด จะเป็นการใช้ ESG Score ในการประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป หรือที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งผลคะแนน ESG Score จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยธนาคารพร้อมมอบส่วนลดดอกเบี้ย และ/หรือ อนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้เป็นพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าธนาคารออมสินเป็นผู้ริเริ่มนำเอา ESG Score มาใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเป็นธนาคารแรกของประเทศ โดยธนาคารได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
 
 
1. Exclusion List หรือ ธุรกิจที่ไม่สนับสนุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง 
 
 
2. Negative List หรือ ธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีคะแนน ESG Score ในระดับต่ำมาก โดยธนาคารจะเข้าทำ Positive Engagement กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการปรับปรุงดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ
 
 
3. Positive List หรือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริม BCG ธุรกิจ EV และ Supply Chain หรือกิจการบริษัทที่มีคะแนน ESG Score ในระดับสูง เป็นต้น  
 
 
 
โดยการประเมิน ESG Score นี้ ได้ดำเนินการมากว่า 8 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้ลูกค้ารายใหญ่เริ่มรู้จักและคุ้นชินกับเกณฑ์การประเมินแบบใหม่ของธนาคารในไทย โดยจะเป็นรูปแบบการตั้งคำถามประมาณ 65-70 ข้อกับธุรกิจต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 หมวดคำถามใหญ่ คือ การดำเนินธุรกิจสร้างผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินการของธุรกิจมีระบบธรรมาภิบาลอย่างไร และรวมถึงที่ผ่านมามีข่าวที่ไม่ดีกับองค์กรหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์จะอยู่ในกรอบของคะแนน 1-10 คะแนน หากคะแนนตกอยู่ที่ 0-2 คะแนน จะจัดอยู่ใน Negative List ซึ่งออมสินจะยังไม่อนุมัติสินเชื่อให้ แต่จะเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจใน List นี้ให้องค์กรมีแผน Net Zero และดำเนินตามแผนเพื่อลดก๊าซคาร์บอนหรือลดกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงาน โดยหากมีคะแนนตั้งแต่ 3 คะแนนขึ้นไป จะเรียกว่า Normal List ตรงตามเกณฑ์ของ ESG Score ที่ทางออมสินถึงจะเริ่มอนุมัติให้สินเชื่อ ส่วนหากมีคะแนน 8-10 บริษัทนั้นจะถูกจัดอยู่ในหมวดดีมาก หรือ Positive List ที่จะให้การสนับสนุนและมอบโอกาสพิเศษ เช่น การให้สินเชื่อ GSB for BCG Economy หรือการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ธุรกิจนั้นๆ ประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์สังคมสีเขียวอย่างยั่งยืน
 
 
 
 
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ และโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดโดยติดตั้ง Solar Rooftop ภายในสำนักงานใหญ่และสาขา 300 แห่ง ในปีนี้ และปีหน้า 900 แห่ง การเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้าในธุรกิจธนาคาร รวมถึงการปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ป่าปลูกป่าให้ได้ 5 หมื่นไร่ ภายในปี 2030 เพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สาคัญ และช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ เป็นต้น
 

LastUpdate 05/09/2566 17:58:32 โดย : Admin
09-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 9, 2025, 1:21 am