การค้า-อุตสาหกรรม
"เอ็นไอเอ" เร่งเดินหน้าปั้น 10 สตาร์ทอัพสายอวกาศและอากาศยาน พร้อมเปิดพื้นที่โชว์ศักยภาพและต่อยอดธุรกิจ ในงาน DEMO DAY ผลักดันสตาร์ทอัพไทยสู่อุตสาหกรรมระดับโลก


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม SPACE ECONOMY LIFTING OFF 2023 DEMO DAY นำ 10 ทีมสตาร์ทอัพสายอวกาศ โชว์ศักยภาพ พร้อมนำชิ้นงานต้นแบบและบริการเสนอต่อกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโอกาสในการนำเสนอแนวคิดและแสดงผลงาน ขยายผลต่อยอดทางธุรกิจร่วมกับหน่วยงานชั้นนำในอุตสาหกรรม  ผลักดันสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานต่อยอดสู่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ประเทศไทยได้มีผู้ประกอบการธุรกิจด้านอวกาศป้อนสู่ตลาดโลก โดยปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอวกาศอย่างต่อเนื่อง ใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยโครงการฯ ในปีนี้ขยายขอบเขตของเทคโนโลยีจากอวกาศไปสู่อากาศยาน ตั้งแต่ระยะแนวคิดไปจนถึงระยะเติบโต โดยมีสตาร์ทอัพผ่านเข้าโครงการฯ จำนวน 10 ทีม
 
 
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของ โครงการ SPACE ECONOMY : LIFTING OFF จัดขึ้นต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอวกาศและอากาศยาน ให้มีโอกาสนำเทคโนโลยี นวัตกรรมไปขยายผลและต่อยอดธุรกิจร่วมกับหน่วยงานชั้นนำในอุตสาหกรรม  โดยโครงการฯ เน้นการบ่มเพาะเชิงปฏิบัติการที่สตาร์ทอัพได้มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์และบริการที่กำลังพัฒนาอยู่มาทดสอบแนวความคิดและรับคำแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมในการเติบโต 
 
 
“จากการดำเนินโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564  โครงการฯ ได้พัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานเข้าสู่อุตสาหกรรมถึง 34 รายและมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 100 ราย โดย 1 ใน 3 ของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสได้ต่อยอดธุรกิจและได้สร้างผลิตภัณฑ์และบริการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม การดำเนินงานของโครงการฯ ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงแต่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอวกาศและอากาศยาน แต่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเชื่อมโยงอื่นๆ ด้วย อาทิ ธุรกิจด้านความยั่งยืน Climate Tech ธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก ธุรกิจการใช้ข้อมูล เพื่อสำรวจทรัพยากร ธุรกิจโดรนและการสำรวจระยะไกล ธุรกิจด้านความปลอดภัย เป็นต้น 
 
“นอกจากนั้นโครงการฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านอวกาศทั้งกลุ่ม Robotics กลุ่ม Biotech กลุ่มนักพัฒนา Software กลุ่ม Hardware/ Electronics, กลุ่ม Climate Tech ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงได้พัฒนา Supply Side ที่จะรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม New S-curve ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติ 4-5 แสนล้านบาทในปี 2567 
 
 
“จากการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา NIA ได้เป็นแกนกลางในการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักด้านอวกาศและอากาศยานของประเทศ  เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้เข้ามาสู่อุตสาหกรรมอวกาศที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างน้อย ดังนั้นแผนงานที่ต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่องก็คือการร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนา supply side อย่างต่อเนื่อง เร่งสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านอวกาศและอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาด เพื่อรองรับการเติบโตและการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านอวกาศของไทยได้เข้าไปเป็นผู้เล่นในระดับโลก โดยเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพทั้งรายใหม่และ SME ได้มีโอกาสทรานสฟอร์มโครงสร้างธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง เสริมศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตในรูปแบบสตาร์ทอัพต่อไป” ดร.กริชผกากล่าว
 
สำหรับ Space Economy: Lifting Off 2023  ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพ 10 ทีม ซึ่งล้วนแต่มีความโดดเด่นของเทคโนโลยีและมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต ประกอบด้วย 
 
“AIRG” ออกแบบและสร้างอากาศยานบินเหนือพื้นน้ำ ในแบบ WIG Craft (Wing-in-Ground)  type C แบบ 2 ที่นั่ง เพื่อการขนส่ง ระหว่างเกาะและชายฝั่ง “CiiMAV” ให้บริการด้านการออกแบบให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรม ด้านอากาศยานไร้คนขับ 
 
“DDM” ระบบ Land Credit จัดทำข้อมูลประเมินรายได้ของเกษตรกร ผ่านการประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียมโดยใช้ AI และMachine leaning  
 
“EarthMove” ระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและแผ่นดินถล่มโดยใช้เทคนิคทาง GPS/GNSS และ InSAR  
 
“ICreativeSystems” อากาศยานไร้คนขับที่สามารถขึ้นลงแนวดิ่ง (VTOL) มีเสถียรภาพสูง รองรับกับภารกิจที่หลากหลาย และใช้ระยะเวลานานในการปฎิบัติงาน 
 
“MUT Space Maker”ชุดการเรียนรู้ดาวเทียม Cubesat สำหรับผู้เริ่มต้นพร้อมหลักสูตรการอบรมแบบปฏิบัติงานจริง (hands-on training) 
 
“Siam Airspace Innovation” โดรนอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและตรวจสอบสินค้าในคลังสินค้าและระบบโลจิสติกส์   
 
“Spacedox HAPs” DRONE CELL TOWER INSPECTION SERVICE สายอากาศภาครับที่สามารถรับคลื่นความถี่ เพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวของเสาโทรศัพท์ได้อย่างแม่นยำ 
 
“Ultimate Drone Solution” โดรนอัตโนมัติ ควบคุมผ่านคลื่นวิทยุจากสถานีภาคพื้นดิน และระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G/5G  
 
“VEKIN” ระบบตรวจวัดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนและการดูดซับคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ Machine Learning และข้อมูลจาก Satellite
 
 
โดยผู้ชนะการนำเสนอ (pitching) ในงาน Demo Day ของโครงการ Space Economy: Lifting Off 2023 (ตัดสินจากคณะกรรมการ) มี 3 อันดับ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ คือ ทีม VEKIN  รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ทีม ICreativeSystems รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ ทีม  Ultimate Drone Solution  สำหรับรางวัล The Popular Vote  (ตัดสินจากผลโหวตของผู้เข้าร่วมงาน)  คือ ทีม Ultimate Drone Solution และรางวัล The Popular Vote (ตัดสินจากคณะกรรมการ) คือ ทีม EarthMove  ทั้งนี้ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 3 อันดับและรางวัล The Popular Vote ทั้ง 2 รางวัล จะได้มีโอกาสได้รับเลือกเข้านำเสนอผลงานในงาน Startup and Innovation Thailand Expo 2024 เพื่อโอกาสในการระดมทุนและการเติบโตต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ย. 2566 เวลา : 12:30:53
26-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 26, 2025, 1:36 pm