กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จับมือพันธมิตรลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน พบปะกับกลุ่มสหกรณ์ เกษตรกร และผู้ประกอบการ ดันสินค้าศักยภาพในพื้นที่ ทั้งน้ำมันงา ชา กาแฟ และมัลเบอร์รี่แปรรูป เจาะตลาด Future Good และกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ พร้อมจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกไปตลาดการค้าเสรี ชี้! ประเทศคู่ค้า FTA ส่วนใหญ่ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว
นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้นำทีมลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อพบปะหารือกับกลุ่มสหกรณ์ เกษตรกร และผู้ประกอบการภายในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ขยายการส่งออก ให้กับผู้ผลิตสินค้าน้ำมันงา ชา กาแฟ และมัลเบอร์รี่แปรรูป
นางสาวบุณิกา กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมได้นำวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ให้คำแนะนำเรื่องทิศทางการค้า กลยุทธ์การตลาด การยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานพรีเมียม มีความปลอดภัยและตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มช่องทางจำหน่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์โลก รวมทั้งขยายการส่งออกไปตลาดการค้าเสรี ซึ่งประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ได้ยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าศุลกากรให้กับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว
นอกจากนี้ กรมได้พบหารือกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันงา บ้านมะยม โดยให้คำแนะนำเรื่องการใช้นวัตกรรมสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า เน้นการเจาะตลาดอาหาร Future Good ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ทั้งกลุ่มรักสุขภาพและผู้สูงอายุ สำหรับการพบหารือกับผู้ประกอบชาวอลเล่ย์ เฮ้าส์ บ้านรักไทย ได้ให้คำแนะนำเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเร่งยื่นจดเครื่องหมายรับรอง อย. และการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตชาในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่า 30 คน
สำหรับการพบหารือกับผู้ประกอบการกาแฟ One-Off Coffee Farmstay กรมได้ให้คำแนะนำเรื่องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า อาทิ การประกวดพันธุ์กาแฟ การทำ Specialty และการสร้างแบรนด์กาแฟ สำหรับการพบหารือกับผู้ประกอบการบริษัท Queenberry จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำผลไม้มัลเบอร์รี่ กรมได้ให้คำแนะนำด้านการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมัลเบอร์รี่ด้วยการทำเกษตรแปลงใหญ่ การผลิตด้วยกระบวนการ BCG ที่ลดการสูญเสียวัตถุดิบและต้นทุน รวมทั้งการหาช่องทางตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นผู้บริโภคที่รักสุขภาพและมีกำลังซื้อ โดยเฉพาะตลาดฮาลาลในประเทศตะวันออกกลาง
“การลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้พบว่าสินค้าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นผลิตภัณฑ์ดาวรุ่งตอบรับกระแสผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่เน้นเรื่องสุขภาพ อาหารปลอดภัย และเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับสหกรณ์ เกษตรกร และผู้ประกอบการ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ทั้งด้านการเพิ่มผลผลิตและการหาตลาดอีกด้วย” นางสาวบุณิกา เสริม
ข่าวเด่น