ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส และเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังตลาดคาดการณ์อุปทานน้ำมันโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวต่อเนื่อง จากการที่ซาอุฯ ประกาศขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตและรัสเซียขยายเวลาปรับลดการส่งออกน้ำมันไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงราว 5.5 ล้านบาร์เรล เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM Service PMI) ในเดือน ส.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.5 สูงกว่าในเดือน ก.ค. 66 ที่ระดับ 52.7 โดยเป็นสัญญาณถึงการเติบโตในอุตสาหกรรมภาคบริการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าสองในสามของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นหนี่งในปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไป
หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 ก.ย. 66 ปรับตัวลดลง 5.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงราว 1.4 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตัวเลขนำเข้าน้ำมันเบนซินของฮ่องกงในเดือน ก.ค. 66 ลดลง 18.8% MoM และ 52.6% YoY สู่ระดับ 34.2 ล้านลิตร นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากจีน ภายหลังมีการเปิดเผยโควต้าการส่งออกรอบล่าสุด
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันดีเซลทั่วโลก อาจปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากฐานตัวเลขอุปสงค์ของกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือและจีน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อปีที่แล้ว
ข่าวเด่น