การค้า-อุตสาหกรรม
กยท. ปฏิวัติวงการยางพารา วิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อร่วมเบลเยี่ยม เสริมคุณภาพพันธุ์ยาง เพิ่มรายได้ชาวสวนยาง


การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดย ดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศ ไทย พร้อมด้วย นายวีรวัฒน์ ยมจินดา นายสำเริง แสงภู่วงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) และนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กยท.และผู้แทนสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลล์ ร่วมเจรจาแลกเปลี่ยน พร้อมผนึกกำลังพัฒนางานวิจัยร่วมกับบริษัท Deroose Plants NV ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการวิจัยขยายพันธุ์ยางตามคำแนะนำของไทย ด้วยนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เสริมคุณภาพให้พันธุ์ยาง ฅเปิดกรีดได้เร็วและให้ปริมาณน้ำยางสูงขึ้นกว่า 30% มุ่งประโยชน์โดยตรงต่อชาวสวนยาง สร้างรายได้ และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายใต้อุตสาหกรรมยางอย่างยั่งยืน


 
ดร.กวีฉัฏฐ เผยว่า ความร่วมมือกับบริษัท Deroose Plants NV ประเทศเบลเยี่ยม ผู้นำด้านเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชระดับโลก เป็นความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่ง กยท. มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยด้านต้นน้ำ โดยการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยพันธุ์ยางตามคำแนะนำของประเทศไทย ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการผลิตต้นยางที่มีคุณภาพสูง ต้นยางจะมีความแข็งแรง เจริญเติบโตได้เร็ว สามารถเปิดกรีดได้เร็วขึ้นจากเดิม 1-2 ปี ช่วยเพิ่มผลผลิตยางพาราต่อไร่ของเกษตรกรให้สูงขึ้นตามเป้าหมายการดำเนินงานของ กยท.และยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมที่สามารถเสริมและเพิ่มรายได้โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพของภาคการเกษตร

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะเป็นการปฏิวัติวงการยางพาราไทย เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มีรายได้และผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน เพราะวันนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือกับบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเกษตรที่มีประสบการณ์มามากกว่า 40 ปี และมีการขยายสาขาเพื่อศึกษา วิจัยทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย ดังนั้น การวิจัยและพัฒนา การผลิต และการใช้ประโยชน์ต้นยางพาราเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตยางพาราเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น หวังว่าการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการผลิตต้นยางที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นทางเลือกแก่เกษตรกรไทย

 
นายสำเริง กล่าวว่า งานวิจัยและการพัฒนาความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์ยางไทยภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตพืชให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตต้นยางพาราที่มีคุณภาพในระยะเวลาอันรวดเร็ว และจะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยางพาราให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในเชิงการค้าในอนาคต

นายณกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนของโลกในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการเติบโตของต้นยางพารา กยท.ตระหนักและให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาต้นน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาส พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพต้นกล้ายางพาราให้มีประสิทธิภาพและผลิตภาพมากขึ้น โดยร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนากับ บริษัท Deroose Plants NV ในการนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้กับพันธุ์ยางแนะนำของประเทศไทย 3 พันธุ์ ได้แก่ RRIM 600 PB 235 และ IRCA 825 และพันธุ์ยางอีก 2 พันธุ์ ได้แก่ IRCA 331 และ IRCA 230 มาทดสอบปลูกในประเทศไทย เพื่อประเมินศักยภาพของต้นยางที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับสภาพพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก่อนนำไปปลูก ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคนิค ให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรชาวสวนยาง วงการยางพารา และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2566 เวลา : 06:10:59
26-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 26, 2025, 1:12 pm