“ชลน่าน-สันติ” เข้ากระทรวงสาธารณสุข ลงนามเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เตรียมแถลงนโยบายกระทรวงภายในวันที่ 22 ก.ย.นี้ และตั้ง National Health Board เป็นแกนกลางกำหนดนโยบายสุขภาพ บูรณาการทุกกระทรวงเกี่ยวกับสุขภาพเข้าร่วม เน้นสร้างความปรองดองในกระทรวง
วันนี้ (11 กันยายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุข โดยทำการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง 7 จุด ได้แก่ พระพุทธนิรามัย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลพระพรหม พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อยู่บนแท่นฐานเดียวกัน พระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระพุทธมหานวนาคปฏิมากร จากนั้นเข้าห้องทำงานชั้น 4 ลงนามในหนังสือเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดให้การต้อนรับ
นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินงานจะนำนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภามาแปลงเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและนำไปสู่แผนการปฏิบัติ โดยจะแถลงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 22 กันยายนนี้ เช่น เรื่องการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเป็นการเพิ่มคุณภาพประสิทธิภาพทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู และเรื่องสุขภาวะ และจะต้องตอบโจทย์เรื่องสุขภาพเชิงสังคมที่ยังมีปัญหาอยู่มาก
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ส่วนการบูรณาการกองทุนสุขภาพอื่นๆ จะดูเชิงระบบทั้งหมด ซึ่งในมิติสุขภาพอยู่ในภาระงานของกระทรวงสาธารณสุข 60-70% จึงต้องเป็นแกนหลักขับเคลื่อน โดยจะตั้งเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Board) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเข้าร่วมเพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทั้งหมด ทั้งนี้ บทบาทแต่ละหน่วยงานรวมถึงกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ลดลง แต่กระทรวงฯ จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อประสาน
“การทำงานของผมจะให้ความสำคัญเรื่องบุคลากร เพราะมิติด้านสุขภาพ บุคลากรด้านสุขภาพมีส่วนสำคัญมาก ได้วางเข็มมุ่งว่า กระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีการบริหารจัดการเอง มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเอง มีกฎหมายมารองรับเป็นการเฉพาะ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือ รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง โดยจะแปลงความเห็นต่างมาเป็นความเห็นร่วม เพื่อขับเคลื่อนงานสุขภาพร่วมกัน สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามาหารือได้ตลอด ถือเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันดูแล” นพ.ชลน่านกล่าว
ข่าวเด่น