SCB CIO มองอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ออกหุ้นกู้ของจีนมีความสามารถชำระหนี้ลดลง แนะหลีกเลี่ยงลงทุนในหุ้นกู้ High Yield ของจีนออกไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า ยังมีความเสี่ยงสูง ในปี 2567-2568 หุ้นกู้ High Yield ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 37,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหุ้นกู้ไทย มีมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท เป็นInvestment Grade ประมาณ 95% และHigh Yield 5% ชี้ลงทุนในหุ้นกู้ IG ผู้ออกยังสามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้สม่ำเสมอ มีงบดุลแข็งแรงและ ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่คาดว่าจะชะลอตัวลง หากนักลงทุนที่รับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ แนะลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินดอลล่าร์ ผ่าน Capped Floored Floater Note เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำและสูง โอกาสรับผลตอบแทนประมาณ 4.6% ต่อปี หรือลงทุนใน Callable Note อายุประมาณ 1 ปี โอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 5.25% ต่อปี
นายศรชัย สุเนต์ตา,CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นกู้ความเสี่ยงสูง (High Yield) ในเอเชียไม่นับรวมญี่ปุ่น มีสัดส่วนหุ้นกู้ของบริษัทจีนค่อนข้างมาก โดยจากข้อมูลของดัชนี Bloomberg Asia Ex-Japan USD Credit HY พบว่า มีหุ้นกู้ของบริษัทจีน ประมาณ 20% และเป็นหุ้นกู้ในกลุ่มอสังหาฯ ประมาณ 20% ในจำนวนนี้รวมหุ้นกู้บริษัท คันทรี การ์เด้นท์ ที่เป็นประเด็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน ปีนี้ครบกำหนดไถ่ถอน 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยสำเร็จไปแล้ว แต่ยังเหลือที่จะต้องจ่ายในปีถัดๆ ไปอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงปี 2567-2569 ที่มียอดหุ้นกู้ครบกำหนดชำระสูงถึง11,152 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ด้วยจังหวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีความอ่อนแอค่อนข้างมาก จากปริมาณความต้องการที่อยู่อาศัยที่ลดลง ส่วนอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกก็ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ผู้ออกหุ้นกู้จากจีนมีความสามารถชำระหนี้หุ้นกู้ลดลง โดยเฉพาะที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าว SCB CIO แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ High Yield ของจีนออกไปก่อน นับจากนี้ไปจนถึง 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีความท้าทายมากพอสมควร ในช่วงปี 2567-2568 จำนวนหุ้นกู้ High Yield ของบริษัทจีน ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนมีสูงถึง 37,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของหุ้นกู้ที่ออกมาแล้วและจะครบกำหนดชำระนับตั้งแต่ปี 2566-2586
“จากการพิจารณาข้อมูลผลตอบแทนของหุ้นกู้ High Yield บริษัทในเอเชียไม่นับรวมญี่ปุ่น พบว่า ปรับตัวลงมาแล้วประมาณ -4.94% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ขณะที่หุ้นกู้ที่อยู่ในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ส่วนหุ้นกู้ High Yield ของจีน ให้ผลตอบแทน -14.64% ซึ่งลดลงมากกว่าตลาดรวม สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังมีอะไรน่ากังวลอยู่ จึงควรหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน จนกว่าสถานการณ์ความต้องการที่อยู่อาศัยในจีนจะดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวลดลง” นายศรชัย กล่าว
ในส่วนของตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนไทย มีมูลค่าประมาณ 4.4 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ Investment Grade (IG) ประมาณ 95% และหุ้นกู้ High Yield มีเพียง 5% หรือประมาณ 2.2 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหุ้นกู้ IG ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้ยังสามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้สม่ำเสมอ ส่วนหุ้นกู้ High Yield บางบริษัทมีปัญหามากขึ้น จึงขอแนะนำผู้ลงทุน หากต้องการลงทุนในหุ้นกู้ไทย ให้ระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้ High Yield และควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ Investment Grade เนื่องจากสถานการณ์ดอกเบี้ยที่แพงขึ้น เพิ่มภาระต้นทุนให้บริษัทได้ ซึ่งหากบริษัทอ่อนแอจะได้รับผลกระทบ ในขณะที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้ Investment Grade จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะงบดุลแข็งแรงและ ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่คาดว่าจะชะลอตัวลงมากกว่าด้วย
นายศรชัย กล่าวว่า นักลงทุนควรพิจารณาเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ของแต่ละประเทศ เพื่อค้นหาโอกาสลงทุนที่น่าสนใจด้วย ซึ่งเรามองว่าปัจจุบัน yield curve ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าไทย ยิ่งในสถานการณ์ที่สหรัฐฯ อยู่ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (inverted yield curve) จึงทำให้ส่วนต่างระหว่าง yield curve ของสหรัฐฯ และไทยมีมากขึ้น และสูงกว่า 10 ปีที่ผ่านมามาก เช่น ถ้าลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำระยะสั้นหรือกองทุนกลุ่มตราสารตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีอัตราผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี ขณะที่ Money Marketในไทย ให้ผลตอบแทนประมาณ1.68% ต่อปี หรือหากลงทุนในหุ้นกู้ Investment Grade สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าไทยเช่นกัน
ทั้งนี้ เราแนะนำให้ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุน หรือรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ไปลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินดอลล่าร์ เช่น การลงทุนผ่าน Capped Floored Floater Note ที่ออกโดยสถาบันการเงิน ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำและสูงที่จะได้รับ ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 4.6% ต่อปี หรืออาจไปลงทุนใน Callable Note ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อายุการลงทุนประมาณ 1 ปี ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 5.25% ต่อปี
ส่วนกรณีที่ต้องการลงทุนหุ้นกู้ Investment Grade ผ่านกองทุนรวม ก็มีหลายกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หากผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศด้วยตนเอง ผ่านสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หากกังวลเรื่องค่าเงิน แนะนำให้ใช้ธุรกรรมประเภท Dual Currency Investment (DCI) ซึ่งเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง ที่ใช้บริหารจัดการความประสงค์โดยใช้สกุลเงินต่างประเทศในอนาคต ซึ่งจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า กรณีที่ลงทุนจนครบอายุแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามที่ตกลงไว้ก็จะแปลงหุ้นกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามอัตราที่ตกลงแต่ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่า ก็จะได้รับเงินคืนเป็นเงินต้นสกุลเงินบาทพร้อมผลตอบแทน
คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
• หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง และ/หรือ มีความซับซ้อน เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (High net worth investors) เท่านั้น
• หู้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เนื่องจากเป็นตราสารที่ประกอบด้วยตราสารหนี้และอนุพันธ์แฝง (embedded derivatives) โดยการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงของปัจจัยอ้างอิง ความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร เป็นต้น
• ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วน หากหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงชุดใดไม่ได้มีการคุ้มครองเงินต้นในจำนวนร้อยละ 100% ของมูลค่าที่ตราไว้ นอกจากนั้นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงยังเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องต่ำและมีตลาดรองที่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
• การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงนี้เป็นธุรกรรมที่ไม่ใช่ "เงินฝาก" และธุรกรรมการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด
• การลงทุนในผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อนซึ่งมีปัจจัยอ้างอิง มีความแตกต่างจากการลงทุนในปัจจัยอ้างอิงโดยตรง จึงอาจทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวมีความผันผวนแตกต่างจากราคาของปัจจัยอ้างอิงได้ ผู้ลงทุนความทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน
• ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมเพิ่มเติมได้จาก website ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777
ข่าวเด่น