วิทยาศาสตร์
18 กันยายนนี้ "ดาวศุกร์สว่างที่สุด" ก่อนรุ่งสาง


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย “ดาวศุกร์สว่างที่สุด” รุ่งเช้า 18 กันยายน 2566 ปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หากฟ้าใส ไร้ฝน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า ในวันที่ 18 กันยายน 2566 “ดาวศุกร์” จะปรากฏสว่างที่สุดครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้ เห็นชัดด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 03:25 น. เป็นต้นไป จนถึงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า

ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม อาจมีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

 
ทั้งนี้ หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทย จะเรียกว่า“ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”

สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในช่วงค่ำวันที่ 10 มกราคม 2568 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2566 เวลา : 13:26:09
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 12:31 pm