DITP ปั้น 15 แบรนด์ไทยติวเข้มกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ในโครงการ IDEA LAB รุ่น 6 ภายใต้แนวคิด “BE REAL” พร้อมออก/วิเคราะห์/เขียน/จัดทำ/สร้างสรรค์คู่มือการสร้างแบรนด์เฉพาะตัว เพื่อรับมือกับความท้าท้ายในโลกการค้ายุคหลังโควิด พร้อมประยุกต์ใช้แข่งขันในเวทีการค้าโลก
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในพิธีปิดโครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 6 หรือ “IDEA LAB 6: Thai Brand Incubation Program” ภายใต้แนวคิด “Be Real” ว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่กรมได้ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเน้นส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ
ในปีนี้ IDEA LAB มีบทบาทในการส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้านวัตกรรมทางการเกษตร โดยการนำนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างความแตกต่างรวมถึงอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์ของตนเอง ซึ่งจะต่อยอดไปถึงการสร้างงานให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green หรือ BCG Economy ที่กำลังเป็นแนวโน้มหลักของตลาดโลกในขณะนี้ โดยหวังให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ ทั้งจากองค์ความรู้ คำแนะนำจากคณะผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญที่สุดคือคู่มือกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์ หรือ Brand Bible เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ยกระดับการสื่อสารแบรนด์ ตลอดจนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในเวทีการค้าโลก ด้วยแนวทางการสื่อสารการตลาดเชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ
นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวว่า โครงการบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 6 มุ่งเน้นการผลักดันผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สามารถสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ แสดงความซื่อสัตย์ โปร่งใส และความรับผิดชอบต่อสังคม ได้สร้างโอกาสในการแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อหาช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่หลากหลาย สามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครองสัดส่วนทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 65 แบรนด์
ปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบ่มเพาะแนวทางกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของตนเอง จำนวนทั้งสิ้น 15 แบรนด์ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสินค้าเกษตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทอาหาร (Food) จำนวน 12 แบรนด์ และประเภทไม่ใช่อาหาร (Non-Food) จำนวน 3 แบรนด์ โดยตลอดระยะเวลาของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้ให้ความสนใจ ให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญที่ได้ให้การแนะนำเป็นอย่างดี และร่วมพัฒนากลยุทธ์การสร้างแบรนด์เฉพาะรายระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญในการค้นหาจุดแข็งและสร้างความแตกต่าง รวมไปถึงแนวทางการสื่อสารแบรนด์ จัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์เพื่อนำไปใช้ในอนาคต นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีการทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการรุ่นที่ 1 - 5 จำนวน 18 แบรนด์เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลของการนำกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ไปปรับใช้ และกระชับเครือข่าย เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการด้วย
ด้าน นายทรงพล เนรกัณฐี นักรังสรรค์แบรนด์และนักการตลาดเชิงกลยุทธ์ ผู้เชี่ยวชาญของโครงการให้ความเห็นว่า “เป็นการจัดโครงการครั้งมีความท้าทายมาก ตั้งแต่แนวคิด Be Real เพื่อให้แบรนด์สามารถอยู่รอดได้ในยุคหลังโควิด-19 มองเห็นความแตกต่างของผู้ประกอบการจากปีที่ผ่านๆ มา โดยมีความตื่นตัวที่จะทำให้แบรนด์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะ แบรนด์เองต้องปรับตัวให้ทัน มีศักยภาพพร้อมแข่งขัน เชื่อว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้เจอกับมิติใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนแบรนด์ให้ทรงคุณค่า ทรงพลัง พร้อมแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาดสากลและสร้างรายได้เข้าประเทศได้ต่อไป
ส่วน นายอิสริยะ เหลียงกอบกิจ ผู้ประกอบการจากแบรนด์ EATVOLUTION สินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพ 1 ใน 15 แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า “การเข้าร่วมครั้งนี้ทำให้เจอผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านแบรนด์และดีไซน์ มาช่วยกลั่นกรอง เนื้อหาของแบรนด์ การสื่อสาร และด้านบรรจุภัณฑ์ให้คมมมากขึ้น ไม่ใช่แค่มุมมองของผู้ประกอบการเพียงด้านแต่ยังมีที่ปรึกษามาแนะนำว่าตรงจุดใดที่ต้องปรับและพัฒนาขึ้นอีก อยากเชิญชวนให้แบรนด์ที่สนใจได้มีโอกาสมาเข้าร่วมโครงการในปีต่อไปเพื่อศึกษาและพัฒนาไปด้วยกัน”
ข่าวเด่น