กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย ไทย-อียู ร่วมเปิดการเจรจา FTA รอบแรก อย่างเป็นทางการ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เดินหน้าเจรจาทั้งการประชุมระดับหัวหน้าคณะผู้แทน และประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ พร้อมวางกรอบเจรจาปีละ 3 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลภายใน 2 ปี ด้านไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 เดือน ม.ค. 67
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังเข้าร่วมพิธีเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบแรก เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ไทย-อียู รอบแรก ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยได้ร่วมกับนายคริสตอฟ คีแนร์ (Mr. Christophe Kiener) ผู้อำนวยการสำนักภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (DG Trade) หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป กล่าวเปิดแสดงความยินดีที่สองฝ่ายได้เริ่มการเจรจา FTA อย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ร่วมกล่าวแสดงความยินดี
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการเจรจาในรอบนี้ ประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะผู้แทน ซึ่งกำกับดูแลการเจรจาในภาพรวม และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7) การค้าบริการและการลงทุน 8) การค้าดิจิทัล 9) ทรัพย์สินทางปัญญา 10) การแข่งขันและการอุดหนุน 11) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14) รัฐวิสาหกิจ 15) พลังงานและวัตถุดิบ 16) ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17) ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18) การระงับข้อพิพาท และ 19) บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายวางแผนจะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง ซึ่งตั้งเป้าสรุปผลเจรจาภายในปี 2568 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ในเดือนมกราคม 2567
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 24,791.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 12,950.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 11,840.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ข่าวเด่น