การค้า-อุตสาหกรรม
1 ปี LTR Visa เครื่องมือสำคัญ สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ


 

จากกระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุนของโลก สปอตไลท์ด้านการลงทุนได้จับจ้องมายังภูมิภาคเอเชีย มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคนี้ ด้วยความพร้อมรองรับ การลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งการพัฒนาด้าน ecosystem ต่าง ๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้ นักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในไทยถือเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ออกวีซ่าประเภทใหม่ ได้แก่ วีซ่าพำนักระยะยาว หรือ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) ที่บีโอไอ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการให้บริการ ซึ่งนอกจากจะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพสูง ยังสนับสนุนให้เกิดการตั้งฐานธุรกิจและลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่

 

ปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต่างผลักดันมาตรการวีซ่าระยะยาวเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ เช่น ชาวต่างชาติที่มีทักษะสูง ผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เป็นต้น สำหรับ LTR Visa ของไทย มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านทักษะและความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ที่มีความมั่งคั่ง รวมไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการทำงานจากที่ใดก็ได้ในโลก เนื่องจากไทยเป็นจุดหมายสำคัญของ นักเดินทางท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเพื่อการทำงานจากทั่วโลก การให้ LTR Visa จะช่วยดึงดูดผู้ที่มีทักษะและ ความเชี่ยวชาญพิเศษ เกิดการลงทุนและตั้งฐานธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยไปสู่ประเทศที่ใช้ฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

จากรายงาน Expat Insider 2023 ที่จัดทำโดยเว็บไซต์ InterNations ซึ่งมีเครือข่าย Expat เป็นสมาชิกกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก จากทั้งหมด 53 ประเทศ ขยับจากปี 2022 ที่อยู่อันดับ 8 และปี 2021 อยู่ในอันดับ 12 รายงานฉบับดังกล่าว ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีระดับความสุขของการทำงานของ Expats ถึงร้อยละ 86 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก อยู่ที่ร้อยละ 72 ดัชนีดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จในการดำเนินนโยบายดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติของไทย

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า หลังเปิดตัว LTR Visa อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (1 ก.ย. 2565 – 31 ส.ค. 2566) มีผู้ยื่นขอ LTR Visa รวม 4,842 ราย โดยชาวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ ยุโรป 2,179 ราย สหรัฐอเมริกา 810 ราย และจีน 507 ราย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ (1) ผู้เกษียณอายุที่มีบำนาญหรือรายได้อื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จำนวน 1,451 ราย คิดเป็นร้อยละ 30 (2) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย จำนวน 1,228 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.4 (3) ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 757 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.6 (4) ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรายได้อย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จำนวน 304 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.3 และ (5) คู่สมรสและผู้ติดตาม จำนวน 1,102 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.8

 

ตลอด 1 ปีของการดำเนินงาน พบว่า ผู้ยื่นขอใช้สิทธิตามมาตรการ LTR Visa ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่มาจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่มีการตั้งสำนักงานในประเทศไทย เช่น บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไอเอชไอ พาวเวอร์ ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน บริษัท ดูคาติ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท นิวลี่ เว็ดส์ ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงบริษัทไทยที่ต้องการบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ เช่น บริษัท เอสซีบี เดต้า เอกซ์ จำกัด (SCB DataX) เป็นต้น ซึ่งบีโอไอประเมินว่าบุคลากรที่ยื่นขอ LTR Visa จะมีการใช้จ่ายราว 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอวีซ่ากว่า 4,000 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท

 

“LTR Visa เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ที่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว การอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย จะช่วยกระตุ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ ที่จะก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับการพัฒนาศักยภาพแรงงานในประเทศไทย ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งบีโอไอจะดำเนินการในเชิงรุก เพื่อสนับสนุนและสร้างบรรยากาศ รวมถึงระบบนิเวศ ที่ดีต่อการลงทุนในไทย เช่น การอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจ การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างยั่งยืน” นายนฤตม์ กล่าว

 

LTR Visa นอกจากเป็นเครื่องมือ ในการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วแล้ว ในระยะยาว ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ และความได้เปรียบด้านสังคม วัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่ทำให้ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ย. 2566 เวลา : 21:21:01
27-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 27, 2025, 11:21 am