ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทยเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ข้อมูลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาจากเครดิตบูโร ชี้ว่ากว่า 90% ของเกษตรกรไทยมีหนี้สิน โดยมีหนี้เฉลี่ยมากกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโตถึง 75% ในรอบ 9 ปี ที่สำคัญคือครัวเรือนเกษตรกรกว่าครึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ (เป็นหนี้เรื้อรัง หรือ persistent debt) เพราะปริมาณหนี้สูงเกินศักยภาพ ทำให้
การชำระหนี้ส่วนใหญ่จ่ายคืนได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น
ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย และ ดร.ลัทธพร รัตนวรารักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศึกษาผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาของลูกหนี้ตัวอย่าง 1 ล้านคนที่สุ่มจากลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในช่วงปี 2557-2566 พบว่าตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มีการพักหนี้เกษตรกรมากถึง 13 มาตรการใหญ่ มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และกว่า 42% อยู่ในมาตรการพักหนี้นานเกิน 4 ปี โดยการพักหนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การพักหนี้แบบวงกว้าง เช่น โครงการเกษตรประชารัฐ และการพักหนี้แบบเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่เป็นการพักชำระเฉพาะเงินต้นอย่างเดียว และทำในวงกว้าง (opt out) ทำให้มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งลูกหนี้ที่มีปัญหาและลูกหนี้ที่ยังสามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติด้วย นอกจากนี้ มาตรการพักหนี้ไม่มีเงื่อนไขช่วยให้ลูกหนี้รักษาวินัยในการชำระหนี้
ผลการศึกษาพบว่า มาตรการพักหนี้เกษตรกรในอดีตไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน เห็นได้จากเกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้มียอดหนี้สูงขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้ามาตรการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจาก 1) 77% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ ได้รับสินเชื่อใหม่ระหว่างการพักหนี้ และ 2) 50% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ ขาดการจ่ายภาระดอกเบี้ยที่ยังเดินอยู่ นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้มีแนวโน้มเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากวินัยทางการเงินที่ลดลง หรือเสียกำลังใจเมื่อเห็นยอดหนี้คงค้างปรับสูงขึ้นมาก อีกทั้งมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะกลับเข้าไปพักหนี้ซ้ำกลายเป็นติดกับดักหนี้ในที่สุด และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาแรงจูงใจของลูกหนี้ที่บิดเบี้ยว (moral hazard) ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นหากเกษตรกรเข้าร่วมมาตรการเป็นเวลานาน นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้ไม่ได้มีการออมเงินหรือลงทุนทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อศึกษาผลกระทบของมาตรการพักหนี้แยกรายกลุ่มเกษตรกร พบว่า 1) กลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการกู้และชำระหนี้อยู่แล้ว เมื่อเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ กลับมีหนี้เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกหนี้กลุ่มนี้เกิด moral hazard และขาดวินัยทางการเงินมากขึ้น โดยมีการขอสินเชื่อเพิ่มเติมในปริมาณมาก ในช่วงที่อยู่ในมาตรการพักหนี้ ดังนั้น การพักหนี้จึงยิ่งสร้างปัญหาหนี้ให้กับกลุ่มนี้ 2) กลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ชั่วคราว การพักหนี้อาจมีผลดีบ้าง เช่น ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้เกษตรกรในระยะสั้น ทำให้สามารถลงทุนทำการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ต่อไปได้ แต่ยังไม่ทำให้การชำระหนี้ปรับดีขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มกลับเข้าไปพักหนี้ต่ออย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การพักหนี้จะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ในระยะยาวให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้ และ 3) กลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพต่ำและจ่ายหนี้ไม่ได้อยู่แล้ว เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ จะมียอดหนี้สะสมและมีแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น และการพักหนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดการออมและลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเปรียบเหมือนการผลักปัญหาไปในอนาคต และไม่ช่วยให้กลับมาชำระหนี้ได้
โดยสรุป ผลการศึกษาชี้ว่ามาตรการพักหนี้ที่ทำในวงกว้าง ต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีเงื่อนไขการรักษาวินัยทางการเงินที่ดี จะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลูกหนี้เกษตรกรในกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน
จากผลการศึกษาข้างต้น สามารถถอดบทเรียนการออกแบบมาตรการพักหนี้ที่เหมาะสมได้ 3 ประเด็น ดังนี้
1. ควรเป็นมาตรการระยะสั้น และใช้เฉพาะในสถานการณ์รุนแรง เช่น การเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง การระบาดของไวรัสโควิด 19 รวมทั้งทำในวงจำกัด (opt in) สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ชั่วคราวเท่านั้น
2. ควรมีกลไกสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มยังรักษาวินัยในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มลูกหนี้ดีที่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ต้องมีกลไกที่ทำให้ลูกหนี้ยังเลือกชำระหนี้อย่างมีวินัย ป้องกันไม่ให้เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ เช่น การลดดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ชำระได้ตามปกติ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ชำระหนี้ต่อเนื่อง ส่วนลูกหนี้ที่ประสบปัญหาและจำเป็นต้องเข้ามาตรการพักหนี้ ควรมีกลไกที่ยังทำให้ลูกหนี้มีแรงจูงใจและความพยายามที่จะชำระหนี้ตามความสามารถได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การพักชำระหนี้เพียงบางส่วน ทำให้ลูกหนี้ยังสามารถชำระหนี้ได้ นอกจากนี้ อาจมีแนวทางเสริมให้เกษตรกร
ที่เข้ามาตรการพักหนี้มีการปรับตัว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ และลดความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวด้วย
3. ไม่ควรใช้มาตรการพักหนี้เป็นเครื่องมือหลักในการช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้เกษตรกร เพื่อลดการพึ่งพิงมาตรการพักหนี้และป้องกันปัญหา moral hazard ซึ่งในอนาคตหากมีความเสี่ยงของการทำการเกษตรมากขึ้น ระบบประกันสินเชื่ออาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนกว่า
ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและภูมิคุ้มกัน เพื่อให้เกษตรกรทุกกลุ่มสามารถชำระหนี้ได้ และลดการพึ่งเงินกู้ อีกทั้งควรให้น้ำหนักกับการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เรื้อรังซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของลูกหนี้เกษตรกรทั้งหมด ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูลลูกหนี้ เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตรงจุดขึ้น และสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพและยั่งยืนขึ้น
****** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท. ******
ข่าวเด่น