การค้า-อุตสาหกรรม
'ไทย - อียู' เจรจา FTA รอบแรก เริ่มต้นด้วยดี ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 2 ต้นปี 67 ตั้งเป้าปิดดีลภายใน 2 ปี



 
‘ไทย-อียู’ เจรจาจัดทำ FTA รอบแรก ที่บรัสเซลส์ เริ่มต้นด้วยดี ทั้งการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การค้าดิจิทัล ด้านไทยเตรียมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมสรุปความคืบหน้าผลการเจรจา กลางเดือน ต.ค.นี้ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รอบ 2 ต้นปีหน้า วางแผนเจรจาอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568

 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าภายหลังนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบแรก ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่า การเจรจาในภาพรวมเป็นไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลง และการทำความเข้าใจกับข้อเสนอนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งวางแผนการทำงานในรอบต่อไป

นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7) การค้าบริการและการลงทุน 8) การค้าดิจิทัล 9) ทรัพย์สินทางปัญญา 10) การแข่งขันและการอุดหนุน 11) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14) รัฐวิสาหกิจ 15) พลังงานและวัตถุดิบ 16) ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17) ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18) การระงับข้อพิพาท และ 19) บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการต่างประเทศ

 
สำหรับไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ณ กรุงเทพฯ และจะมีการเจรจาอีก 2 รอบ ในปี 2567 หรืออาจเพิ่มเติมระหว่างรอบ เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายใน 2 ปี (ปี 2568) ทั้งนี้ กรมเตรียมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมประชุมสรุปความคืบหน้าผลการเจรจาครั้งแรก ในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้

ด้านสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้ประเมินประโยชน์และผลกระทบเบื้องต้นของการจัดทำ FTA ไทย-อียู คาดว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวร้อยละ 1.28 ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.83 ต่อปี การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81 ต่อปี รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงานของไทย และสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดอียู ขณะเดียวกันจะช่วยยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ให้เป็นสากลมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและอียูมีมูลค่า 24,791.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 12,950.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอียู มูลค่า 11,840.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ย. 2566 เวลา : 14:44:05
27-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 27, 2025, 11:22 am