ซีเอสอาร์-เอชอาร์
เกษตรกรปลื้ม ปุ๋ยเปลือกไข่-มูลไก่-น้ำปุ๋ย จากซีพีเอฟ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดเสี่ยงแล้ง


 

การขาดแคลนน้ำและต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นับเป็นปัญหาใหญ่ที่พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชต้องแบกรับ  เนื่องจากต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีคิดเป็น 19-20% ของต้นทุนการเพาะปลูกพืชทั้งหมด ขณะที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ที่ผ่านมาภาครัฐต่างผลักดันแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และสนับสนุนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการดินและปุ๋ยมาโดยตลอด

 
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนหลายแห่งก็จัดโครงการเพื่อสนับสนุนแนวทางที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรควบคู่ไปด้วย เช่นเดียวกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ดำเนินโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร จากความสำเร็จของฟาร์มสุกรที่ดำเนินการมากว่า 20 ปี ต่อยอดสู่ธุรกิจไก่ไข่ ที่เดินหน้าทั้งโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร และโครงการปุ๋ยมูลไก่ รวมถึงธุรกิจไก่เนื้อ ดำเนินโครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งแก่เกษตรกรในพื้นที่รอบข้างสถานประกอบการของบริษัทได้อย่างเป็นรูปธรรม

 
นายเกษม ลาดสันเที๊ยะ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย 20 ไร่ ที่อยู่ตรงข้าม Complex ไก่ไข่จักราช อ.จักราช จ.นครราชสีมา เล่าว่า ตนเองเป็นเกษตรกรรายแรกๆที่รับมูลไก่จากฟาร์มมาใช้กับต้นอ้อย พื้นที่ 20 ไร่ ซึ่งมูลไก่มีธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยให้ผลผลิตดี เมื่อเพื่อนเกษตรกรรายอื่นเห็นว่าดีก็ใช้ตาม จากนั้นจึงปรึกษากับทีมงานซีพีเอฟเรื่องการรับน้ำปุ๋ยมาใช้ เพื่อทดลองว่าจะช่วยให้ต้นอ้อยได้ผลผลิตดีขึ้นหรือไม่ โดยบริษัทใช้รถแบคโฮตัวเล็กมาขุดร่องเหมืองเล็กๆเพื่อดึงน้ำมาใช้ โดยเริ่มให้น้ำปุ๋ยเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนอ้อยรัดตอสูงประมาณ 75 เซนติเมตร - 1 เมตร พออ้อยตั้งลำได้ 3-4 ข้อ จึงเริ่มปล่อยน้ำให้ เมื่อเทียบการให้ปุ๋ยเคมี กับการใช้มูลขี้ไก่และน้ำปุ๋ย พบว่าอ้อยรากเดินดี ขยายกอใหญ่ ให้ลำเยอะ ลำใหญ่ ข้อยาว 

 
“รอบที่ผ่านมาใช้น้ำปุ๋ยและมูลไก่ทำให้ได้ผลผลิตอ้อยสูงถึง 20-25 ตันต่อไร่ จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวได้ผลผลิตไร่ละ 18 ตัน รายได้จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และยังช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยจากเมื่อก่อนตลอดการปลูก 1 ปี ใช้ปุ๋ยเคมี 20 กระสอบ ตอนนี้ลดปุ๋ยเคมีได้ 50% หรือใช้เพียง 10 กระสอบเท่านั้น ขอบคุณซีพีเอฟที่จัดโครงการนี้ดีๆแบบนี้ ทำให้ชุมชนและฟาร์มอยู่อย่างเกื้อกูลกัน ช่วยทั้งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต แก้ปัญหาภัยแล้ง และเกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น” นายเกษม กล่าว

 
ส่วน นายหล๊ะ ดุไหน เกษตรกรชาว ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ต้นแบบเกษตรกรที่รับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มไก่ไข่จะนะ บอกว่า ใช้น้ำปุ๋ยสำหรับรดแปลงปลูกหญ้าเนเปีย พื้นที่ 10 กว่าไร่ ใช้รดสวนปาล์มอีก 10 ไร่ และล่าสุดใช้กับแปลงปลูกฟักทอง 10 ไร่ รอบการปลูกที่ผ่านมาได้ผลผลิตฝักทองมากถึง 20,000 กิโลกรัม ได้กำไรประมาณ 200,000 บาท เพราะได้น้ำปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ที่มีแร่ธาตุที่ต้นพืชต้องการครบถ้วน ทำให้เถาฟักทองแข็งแรง ให้ดอกมาก ติดผลดก ลูกฟักทองใหญ่ น้ำหนักดี ผิวสวยขายได้ราคาดี ช่วยสร้างรายได้ที่ดี และวางแผนขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 10 ไร่ ในรุ่นต่อไป

 
ทางด้าน  นายสิงห์คำ เป็งเรือน เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในพื้นที่ ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เริ่มรับปุ๋ยเปลือกไข่ จากฟาร์มไก่ไข่สันกำแพง มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อทดลองว่าจะใช้ได้ดีกับการปลูกข้าวหรือไม่ โดยพื้นที่นาข้าว 2.5 ไร่ ใช้ปุ๋ยเปลือกไข่ปริมาณ 1 ตันต่อไร่ นำมาโรยแล้วไถกลบ ช่วยปรับสภาพดินก่อนการเพาะปลูก ตอนนี้ข้าวอายุ 2 เดือน เห็นความแตกต่างจากแต่ก่อน เพราะได้ข้าวกอใหญ่ ลำใหญ่ เขียวดี เนื่องจากเปลือกไข่มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ที่ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช คาดว่ารอบนี้จะได้ผลผลิตดีขึ้น และสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง จากปกติหนึ่งรอบใช้ 20 กิโลกรัมต่อไร่ รอบนี้น่าจะลดลงเหลือ 15 กิโลกรัมต่อไร่ 

“โครงการนี้ดีมาก ช่วยลดค่าปุ๋ย ช่วยประหยัดต้นทุน คาดว่าผลผลิตข้าวน่าจะเพิ่มมากขึ้นแน่นอน เพราะข้าวกอใหญ่ ตอนนี้เตรียมปุ๋ยเปลือกไข่สำหรับใส่นาปรังไว้แล้ว ขอบคุณที่บริษัทช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรมาตลอด” นายสิงห์คำ กล่าว

 
สำหรับ ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อของซีพีเอฟ โดยโรงฟักชัยภูมิ ดำเนินโครงการ “ปุ๋ยเปลือกไข่ สู่ชุมชน และเกษตรกร” โดยสนับสนุนเปลือกไข่และมูลไก่แก่ “โครงการสร้าง สาน สุข วิถีชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จ.ชัยภูมิ” ที่เกษตรกร 62 คน รวมตัวกันผลิตปุ๋ยหมักเปลือกไข่ใช้เอง สามารถผลิตปุ๋ยหมักเปลือกไข่ได้ปีละ 10,000 กระสอบ เพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกฯ เกษตรกรได้นำไปใช้กับไร่ นา สวน และมอบแก่ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งทุกคนที่นำปุ๋ยหมักเปลือกไข่ไปใช้ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปุ๋ยที่ได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย เหมาะแก่การเพาะปลูกและการเติบโตของพืช ได้ผลผลิตดีขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ต้นทุนการเพาะปลูกจึงลดลง สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้น คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดสารเคมีที่ตัวเองปลูก นับเป็นการบริหารจัดการของเสียแบบบูรณาการด้วยการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ในการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงสถานประกอบการ ได้พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ก้าวผ่านวิกฤติภัยแล้ง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีจากการลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิต สอดรับตามกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลักของบริษัท คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่./

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ย. 2566 เวลา : 15:48:59
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 4:48 am