ส่งออกเดือน ส.ค. ขยายตัว 2.6%YoY เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ตามการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัว ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังหดตัวต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าหดตัวที่ -12.8% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค.กลับมาเกินดุล 359.9 ล้านดอลลาร์ฯ
Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเฉลี่ย 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 0.9%QoQ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้งภาคการผลิตของประเทศตลาดหลักยังหดตัวต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกสินค้า
มูลค่าส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 ขยายตัว 2.6%
มูลค่าส่งออกเดือน ส.ค. อยู่ที่ 24,279.6 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ 2.6%YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว -4.0% จากการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังหดตัวต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัว 50.3% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัว 3.6%YoY ทั้งนี้การส่งออก 8 เดือนแรกหดตัว 4.5%
ด้านการส่งออกรายสินค้าบางส่วนกลับมาขยายตัว
• การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ที่ 2.5%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว
-3.4%YoY ตามการขยายตัวของรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+5.2%) แผงวงจรไฟฟ้า (+39.8%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+6.4%) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+36.9%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+74.5%) และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+59.1%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-26.9%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-4.7%) อัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ (-10.4%) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (-23.4%) เป็นต้น
• การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -1.5%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว -9.6%YoY จากสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง -7.6%YoY ขณะที่สินค้าหมวดเกษตรกลับมาขยายตัว 4.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา (-32.9%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-12.8%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-9.7%) และน้ำตาลทราย (-23.1%) เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (+99.8%) ข้าว (+10.8%) สิ่งปรุงรสอาหาร (+28.6%) ผักกระป๋องและแปรรูป (+26.5%) นมและผลิตภัณฑ์นม (+13.2%) และผักสด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (+22.8%) เป็นต้น
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว
• สหรัฐฯ : ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 21.7%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ส่งออก 8 เดือนแรกขยายตัว 0.1%)
• จีน : กลับมาขยายตัวที่ 1.9%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น (ส่งออก 8 เดือนแรกหดตัว 3.0%)
• ญี่ปุ่น : กลับมาขยายตัวที่ 15.7%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ไก่แปรรูป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น (ส่งออก 8 เดือนแรกขยายตัว 0.8%)
• EU27 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -11.6%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 8 เดือนแรกหดตัว 4.1%)
• ASEAN5 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -1.5%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย คอมพิวเตอร์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 8 เดือนแรกหดตัว 8.2%)
มูลค่าการนำเข้าเดือน ส.ค. อยู่ที่ 23,919.7 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 12.8%YoY หดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 11.0%YoY ตามการหดตัวต่อเนื่องของสินค้าเชื้อเพลิง (-35.1%YoY) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-14.4%YoY) ขณะที่สินค้าทุน (-0.7%YoY) กลับมาหดตัว สำหรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (+1.8%YoY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (+9.0%YoY) ขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง ด้านดุลการค้าเดือน ส.ค. กลับมาเกินดุล 359.9 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับดุลการค้า 8 เดือนแรกขาดดุลสะสม 7,925.4 ล้านดอลลาร์ฯ
Implication:
• การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเฉลี่ย 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.9%QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังจากที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 มากถึง -2.9%QoQ โดยสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 3 เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกล และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่สิ่งทอ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ กลับมาหดตัวในไตรมาสที่ 3 สะท้อนถึงการส่งออกสินค้าบางประเภทยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ โดยภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ สะท้อนจากเครื่องชี้ Flash Manufacturing PMI เดือน ก.ย. ที่หดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลงและการปรับลดระดับสินค้าคงคลังลง Krungthai COMPASS ประเมินว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงจากอุปสงค์โลกที่ไม่แน่นอน
ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS
ข่าวเด่น