แบงก์-นอนแบงก์
กนง. มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.50% ต่อปี


 
วันนี้ (27 ก.ย. 66) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากระดับ 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

โดยภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงในปีนี้จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยอัตราการขยายตัวในปี 2567 จะเพิ่มสูงขึ้น จากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ

ด้านอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประกอบกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% และ 2.6% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐและผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และ 2.0% ในปี 2566 และ2567 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง โดยเฉพาะในปี 2567 จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด รวมถึงต้องติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.8% และ 4.4% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชน

สำหรับปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้า และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีน และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า

อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศ ภายใต้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว อีกทั้งจะได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ

นายปิติกล่าวถึงค่าเงินบาทปัจจุบันที่อ่อนค่าลงว่า ในภาพรวมยังสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นทำให้ค่าเงินสกุลอื่นเมื่อเทียบดอลลาร์อ่อนค่าลง ทั้งนี้ หากมองตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 3-4% แต่ยังไม่ถือว่าอ่อนค่าจนมีอะไรที่เป็นประเด็น ในมุมกลับกันยังช่วยให้ภาคการส่งออกมียอดรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท

ส่วนนโยบายภาครัฐ การแจกดิจิทัลวอเล็ต 1 หมื่นบาท นายปิติกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเริ่มขึ้นเมื่อใด รวมไปถึงการหาแหล่งเงิน และรูปแบบ จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ผลกระทบย่อมจะมีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ยังไม่สามารถประเมินได้เนื่องจากยังไม่เห็นตัวเลขที่ชัดเจน

ส่วนเสถียรภาพการคลังน่าเป็นห่วงหรือไม่ นายปิติกล่าวว่า เนื่องจากมาตรการภาครัฐยังไม่ชัดเจนจึงยังประเมินไม่ได้ แต่หลายฝ่ายก็ดูมีความเป็นห่วงในภาคการคลัง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2566 เวลา : 17:26:20
30-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 30, 2024, 2:59 am