กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. สนับสนุนทุนวิจัย ให้แก่ ห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ ที่ผ่านการรับรอง มอก.17025 (ISO/IEC 17025) แห่งแรกของประเทศไทย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการสร้างซอฟต์แวร์ ให้เป็นมาตรฐานสากล และลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ ทำให้คนไทยได้ใช้ซอฟต์แวร์ ที่มีมาตรฐานมากขึ้น และสามารถนำผลการทดสอบเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดของแต่ละประเภทผู้ประกอบการเพื่อรับรองได้อีกด้วย
บริการทดสอบซอฟต์แวร์ยังมีเป้าหมายให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รับความเป็นธรรมในการใช้สินค้า ที่มีการรับรองคุณภาพอย่างถูกต้องตามกระบวนการ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้บริโภคจะไม่เสียเปรียบโดยเฉพาะจากปัญหาที่พบบ่อย คือ ซอฟต์แวร์ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ มีฟังก์ชันการทำงานที่ผิดพลาด หรือแม้แต่ข้อมูลรั่วไหล แม้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จะมีการทดสอบซอฟต์แวร์ของตนแล้วก็ตาม พร้อมตอกย้ำความสำคัญในการมีหน่วยงานกลางที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ดร.พนิตา เมนะเนตร ผู้จัดการห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดเผยว่า บริการทดสอบ ระบบซอฟต์แวร์ หรือ Software Testing Service เป็นการทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ๆ ตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดของระบบ นอกจากจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการช่วยยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยในการต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนประเทศ ผ่านเทคโนโลยีอีกด้วย โดยบริการทดสอบระบบซอฟต์แวร์นั้น ปฏิบัติงานภายใต้ห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่ผ่านการรับรอง มอก.17025 (ISO/IEC 17025) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์แห่งแรกของประเทศไทย
“การทดสอบระบบซอฟต์แวร์โดยห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) จะช่วยอำนวย ความสะดวกให้กับผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการสร้างซอฟต์แวร์ให้เป็นมาตรฐานสากลเป็นอย่างมาก โดยผู้ประกอบการสามารถทราบสถานะคุณภาพผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน และสามารถต่อยอดไปสู่ การยกระดับสินค้า หรือบริการดิจิทัลที่มีอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังจะได้ลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ ลง เมื่อเทียบการการทดสอบที่ต้องส่งไปต่างประเทศที่มีทั้งค่าขนส่ง และการดำเนินการต่าง ๆ ที่แพงกว่าหลายเท่าตัว และมั่นใจได้ว่าการทดสอบระบบซอฟต์แวร์โดยห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ได้มาตรฐานระดับสากล และสามารถนำผลการทดสอบเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดของแต่ละประเภทผู้ประกอบการเพื่อรับรองได้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันประเมินและรับรองเทคโนโลยีดิจิทัล (DTEC) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บัญชีนวัตกรรมเพื่อขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย และบัญชีดิจิทัลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
การทดสอบระบบซอฟต์แวร์โดยห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (SQUAT) ให้บริการทดสอบกับ 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1. Software System เป็นบริการทดสอบระบบซอฟต์แวร์ รองรับการทดสอบ ระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นแอปพลิเคชันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Mobile Application, Web-Application, Embedded System หรือรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งสามารถทดสอบได้ทั้งผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการผลิตหรือผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว 2. IoT ด้านซอฟต์แวร์ เป็นการทดสอบฟังก์ชันการทำงานของอุปกรณ์ IoT รวมไปถึง Mobile Application, Web-Application และ API ที่เกี่ยวข้องว่าสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงตามที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ รูปแบบการทดสอบเช่นเดียวกับการทดสอบ 3. ระบบเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Computer Log Systems) ให้บริการตรวจสอบระบบเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีหน้าที่ในการเก็บรวมรวมข้อมูลที่มีการรับส่งอยู่บนระบบเครือข่ายที่เป็นข้อมูลซึ่งใช้เป็นหลักฐาน พยาน รวมถึงพฤติกรรมการใช้งานต่าง ๆ และ 4. ซอฟต์แวร์ทางเครื่องมือแพทย์ (Medical Device Software) ให้บริการในด้านของการตรวจสอบซอฟต์แวร์และกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ตามข้อกำหนดของมาตรฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ระดับสากล อีกทั้งในอนาคตยังได้มีการขยายการบริการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การทดสอบเครื่องตรวจเฝ้าระวังอุณหภูมิสำหรับตู้เก็บวัคซีนด้านสมรรถนะ การทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน การทดสอบระบบยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ การทดสอบผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์บริการ การทดสอบระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า (BMS) รวมถึงการให้บริการชุดเครื่องมือทดสอบ (Hardware in the Loop)
นอกจากบริการทดสอบระบบซอฟต์แวร์แล้ว ยังมีการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การทดสอบซอฟต์แวร์ ระดับสากล สำหรับระดับพื้นฐาน Software Testing Boot Camp : Foundation Level” ให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ 3 คณะ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพการทดสอบซอฟต์แวร์ในประเทศไทย และยกระดับและขีดความสามารถบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นผู้ทดสอบซอฟต์แวร์ตามหลักการมาตรฐานสากลต่อไป โดยในอนาคตจะมีการขยายไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8124 และ 02-554-8102 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS
ข่าวเด่น