นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยล่าสุดที่อยู่ระดับ 2.50% จากเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% นั้น เป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน และจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกระยะหนึ่ง แต่หากในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กนง.ก็พร้อมที่จะ take action อย่างใดอย่างหนึ่ง
“ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำมานานมาก จนส่งผลให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสร้างพฤติกรรม Search for yield ดังนั้น การทำนโยบายการเงิน จะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในระยะยาวด้วย ไม่ใช่เพียงดูเฉพาะข้อมูลรายวันหรือข้อมูลระยะสั้นที่มักจะมีความผันผวนอยู่ตลอด”ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
นายเศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาวะตลาดการเงินมีความผันผวนค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้น ฉะนั้นการดำเนินนโยบายการเงินจะต้องมองไปยาวๆในระยะข้างหน้าด้วย
“เราถึงพยายามจะสื่อว่าต้องดู outlook dependent มากกว่าดูที่ data dependent เพราะไม่เช่นนั้น ข้อมูลจะไม่เสถียรถ้าเราตัดสินใจจากแค่ data dependent เหมือนกับเราขับรถโดยดูแต่กระจกหลัง แทนที่จะมองไปข้างหน้า มันอันตราย และมีความเสี่ยง เราถึงต้องยึดจาก outlook dependent มากกว่า data dependent” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ ธปท.ยังกังวล โดยในระยะข้างหน้ายังต้องติดตาม ปัญหาเอลนีโญ ที่จะส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก เพราะตะกร้าเงินเฟ้อมีสัดส่วนสินค้ากลุ่มอาหารอยู่มาก ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตต่างๆ ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ต้องติดตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย
“ถ้า outlook ข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยจากที่เราคาดไว้ กนง.ก็พร้อมจะ take action แต่ถ้า outlook ออกมาสอดคล้อง ไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เรามองไว้ ดอกเบี้ยก็คงอยู่ในระดับนี้ไปอีกสักพัก” ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
นายเศรษฐพุฒิกล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าว่า มีปัจจัยจากภายนอกเป็นหลัก เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แต่หากมองว่าค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวนและผันผวนมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินบาทมีความเชื่อมโยงกับค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออก
ข่าวเด่น