การตลาด
สดร. จับมือ กรมอุตุฯ บูรณาการข้อมูลดาราศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา พัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี เพื่อพยากรณ์ เฝ้าระวัง และเตือนภัยสภาพอากาศ


 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ กรมอุตุนิยมวิทยา (อต.) นำวิทยาการข้อมูลดาราศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา พัฒนางานวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม หวังบูรณาการข้อมูล องค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มาใช้พยากรณ์อากาศ เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศ และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมดาราศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยาให้เกิดประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติ

 
28 กันยายน 2566 - เชียงใหม่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตนิยมวิทยา ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความ ร่วมมือด้านวิทยาการข้อมูลดาราศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา เพื่อพัฒนางานวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมแอนโดรเมดา อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่

 
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามลภาวะทางอากาศ เป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ มลพิษที่สะสมในอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) กําลังเป็นปัญหาใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่กําลังประสบอยู่ในปัจจุบัน สดร. ได้วิจัยและพัฒนาแบบจําลองพยากรณ์คุณภาพอากาศ ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีไลดาร์ (Light Detection and Ranging หรือ LiDAR) ซึ่งมีทีมพัฒนาเทคโนโลยีที่ออกแบบและผลิตอุปกรณ์ขึ้นเอง สำหรับวัดระดับชั้นความสูงของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นเครื่องมือวิจัย และเก็บตัวอย่างข้อมูลจากชั้นบรรยากาศ ที่สามารถบ่งชี้คุณภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศของโลก ทั้งนี้ ปัจจัยสําคัญที่ทําให้ผลจากแบบจําลองพยากรณ์คุณภาพอากาศมีความแม่นยําสูง คือ องค์ความรู้ทางอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ข้อมูลลมชั้นบนในระดับต่าง ๆ ข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศ และผลการพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ

 
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งสองจะนําไปสู่ความก้าวหน้าทางการวิจัย และนวัตกรรม ด้านดาราศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาต่อไป นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานแล้ว ผลงานวิจัย นวัตกรรม และการบริการที่ตอบโจทย์ ยังจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนอีกด้วย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากภารกิจด้านงานวิจัย การสร้างความตระหนักและถ่ายทอดองค์ความรู้ดาราศาสตร์ผ่านสื่อต่าง ๆ แล้ว สดร. ยังมีพันธกิจ ในด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง เนื่องจากงานวิจัยดาราศาสตร์เป็นงานวิจัยขั้นแนวหน้าที่เร่งเร้าให้เกิดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ไม่มีขายในท้องตลาด สดร. จึงใช้ดาราศาสตร์เป็นความท้าทายในการพัฒนาขีดความสามารถของคน พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาคน และมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ เช่น ทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ เมคาทรอนิกส์ การขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง และคอมพิวเตอร์สมรรถนสูงและวิทยาศาสตร์ข้อมูล (High Performance Computing หรือ HPC) เป็นต้น เพื่อผลิตชิ้นงาน ตอบสนองงานวิจัย และยังต่อยอดนวัตกรรมต้นแบบไปสู่สาขาอื่นๆ ได้ เช่น การแพทย์ โทรคมนาคม ฯลฯ ปัจจุบัน สดร. ทีมบุคลากรที่ใหญ่ที่สุดใน คือ วิศวกร ซึ่งมีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สามารถถ่ายทอด ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ได้ ส่วนพันธกิจสุดท้าย คือการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่จะสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ให้ขับเคลื่อนไปได้ ดังเช่นการลงนามความร่วมมือในวันนี้

 
การลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยาในครั้งนี้ จะสนับสนุนให้บุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะความรู้ความสามารถเชิงวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิทยาการข้อมูลดาราศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา รวมถึงการนำองค์ความรู้ และข้อมูลสารสนเทศทางดาราศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา มาร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการ เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ และพยากรณ์อากาศ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านดาราศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา เช่น การใช้ประโยชน์จาก High Performance Computing (HPC) มาช่วยสร้างแบบจำลองพยากรณ์อากาศ และแบบจำลองทางดาราศาสตร์ ร่วมกันออกแบบและพัฒนา Phased Array Weather RADAR เพื่อการวิจัยทางอุตุนิยมวิทยาและบรรยากาศ เป็นต้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ของทั้งสองหน่วยงาน จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

 
โอกาสเดียวกันนี้ สดร. ได้พาผู้บริหารกรมอุตุนิยมวิทยา และผู้มีเกียรติเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการพัฒนาต้นแบบดาวเทียม ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium: TSC) และห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง นอกจากนี้ กลุ่มงานวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ได้นำเสนออุปกรณ์ต้นแบบ Atmospheric LiDAR ที่ออกแบบและผลิตขึ้นเอง สำหรับวัดระดับชั้นความสูงของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำนายสภาพอากาศได้อย่างแม่นยำด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ย. 2566 เวลา : 19:40:43
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 7:36 pm