หุ้นทอง
บล.ทิสโก้แนะทยอยสะสมหุ้นไทย - ขายทำกำไรต้นปี 67 หวังเม็ดเงินงบรัฐฯ อัดฉีดเงินดิจิทัลเข้าเศรษฐกิจ


บล.ทิสโก้ชี้ไตรมาสที่เหลือของปี 2566 เป็นจังหวะทยอยสะสมหุ้นไทยเพื่อหวังผลการลงทุนขายทำกำไรต้นปี 2567 คาดหุ้นขึ้นรับข่าวรัฐอัดฉีดงบจากที่ล่าช้าและเดินหน้าแจกเงินดิจิทัลเข้าเศรษฐกิจ พร้อมปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยปี 2566 เป็น 1,535 จุด จากเดิม 1,496 จุด ผลบวกจากประมาณการกำไร บจ.ไทยปรับขึ้น 3% พร้อมให้เป้าหุ้นไทยปี 2567 ที่ 1,640 จุด

 
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า แม้ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) จะปรับตัวลงมามากในเดือนที่แล้ว แต่ยังขาดปัจจัยขับเคลื่อนที่มีนัยสำคัญในระยะสั้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุนในปัจจุบันยังถูกปกคลุมด้วยความกังวลทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจอยู่ระดับสูงนาน ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yields) และ US Dollar Index ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นช่วงรอยต่อของงบประมาณปี 2567 ที่มาความล่าช้า ทำให้ขาดเม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ดังนั้น จึงคาดหวังการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ได้ไม่มากนัก แต่มองเป็นจังหวะทยอยสะสม - ตั้งรับหุ้น เพื่อขายทำกำไรในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าเมื่อมีเม็ดเงินงบประมาณและการแจกเงินดิจิทัลไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การลงทุนระยะสั้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ บล.ทิสโก้แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นที่คาดงบไตรมาส 3/2566 จะออกมาดีเป็นสำคัญ และเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ หุ้นเด่นที่บล.ทิสโก้แนะนำในเดือนตุลาคมคือ BBL, BEM, CENTEL, COM7, CPALL, RBF, SPA และ TOP ด้านแนวรับสำคัญของดัชนีหุ้นไทย เดือนตุลาคมอยู่ที่ 1,450 – 1,460 และแนวรับถัดไปที่ 1,420 – 1,430 จุด และต้านสำคัญอยู่ที่ 1,500-1,505 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,530 จุด ตามลำดับ

นายอภิชาติกล่าวอีกว่า บล.ทิสโก้ปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 1,496 จุด เป็น 1,535 จุด จากการปรับประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2567 ขึ้น 3% สำหรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีหน้า บล.ทิสโก้ปรับลงจากเดิม 1,735 จุด เป็น 1,640 จุด จากความเสี่ยงการขาดดุลแฝดพร้อมกัน (Twin Deficits) ทั้งจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลงบประมาณ โดยแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐฯ และจีน จะกระทบต่อการส่งออก และการใช้จ่ายเงินจำนวนมากตามนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจะกระทบต่อฐานะการคลังหากไม่สามารถปลุกเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับมุมมองตลาดหุ้นโลกนั้น ตลาดหุ้นโลกในเดือนกันยายนที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนแย่สุดในรอบ 1 ปี ปรับตัวลงไปมากกว่า -4% ถูกกดดันจาก Bond Yields ทั่วโลกเดินหน้าขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบมากกว่าทศวรรษ หลัง Dot Plot ของ FED ล่าสุดในเดือนกันยายนตอกย้ำทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ระดับสูงนาน (Higher for Longer)

บล.ทิสโก้เป็นห่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี จะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันต่อเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) และเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) สหรัฐฯ พบว่ามีความสัมพันธ์ในทางบวก โดยมีค่า Correlation สูงถึง +0.81 และ +0.75 ตามลำดับ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ตลาดปรับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสุดท้าย (Terminal Rate) ขึ้นจากปัจจุบันที่ 5.25-5.50% เป็น 5.50-5.75% ให้เทียบเท่า Dot Plot ล่าสุดของ FED ส่งผลให้ตลาดหุ้นแกว่งไม่ไปไหนจนกว่าจะซึมซับปัจจัยดังกล่าวเต็มที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Terminal Rate อาจเลื่อนออกไปเป็นการประชุม 2 ครั้งที่เหลือของ FED ในปีนี้จากเดิมที่ตลาดมองว่า FED ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับสูงสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่บล.ทิสโก้ยังคงย้ำว่า จะขยับ

ออกไปเป็นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่จะถึงนี้เท่านั้น ดังนั้น Bond Yields ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันจะกดดันตลาดหุ้นได้อีกไม่นาน เพราะโดยปกติหลังจากที่ FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดแล้ว Bond Yields มักจะกลับมาปรับตัวลง 50-150 bps ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เพราะฉะนั้น หาก FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งจริงตาม Dot Plot ในปีนี้ คาด Bond Yields จะมีทิศทางกลับมาเป็นขาลงในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า จะเป็นบวกต่อตลาด

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ต.ค. 2566 เวลา : 12:36:51
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 4:47 am