ในสนามการแข่งขันกีฬา ถ้าอยากรู้ว่านักกีฬาคนไหน ทีมไหน มีความพร้อมมากที่สุด เรามักพิสูจน์ได้จากรางวัลในสนามแข่ง แต่สำหรับ “ความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล หรือ Digital Transformation” ขององค์กร หรือ บริษัท แล้ว เราวัดด้วยอะไร? เชื่อว่านี่คงเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังสงสัย เพราะที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ เอกชน ต่างเร่งส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นทางเศรษฐกิจและยังมีผลกับการขับเคลื่อน GDP ของประเทศ เพราะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรจะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานและการทำธุรกิจ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ พร้อมรองรับโลกอนาคตกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า เครื่องมือที่หลายๆ ประเทศต่างนิยมนำมาใช้วัดความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลขององค์กร นั่นก็คือ “Digital Maturity Model” ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ ที่เข้ามาช่วยทำให้เราสามารถทำความเข้าใจถึงสถานะความพร้อมของการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลขององค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะองค์กรไหนที่มี Digital Maturity อยู่ในระดับสูง จะมีโอกาสได้เปรียบทางการเเข่งขัน ทั้งด้านการเติบโต และรายได้ มากกว่าองค์กรหรือบริษัทที่มี Digital Maturity ในระดับที่ต่ำกว่า
สำหรับประเทศไทยแล้ว ล่าสุด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้ Concept ที่หลายคนต่างคุ้นชิน #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล ก็ได้นำเครื่องมือนี้ มาเป็นกรอบในการวัดสถานะความพร้อมด้านดิจิทัลของ SMEs ไทยทั่วประเทศ ผ่าน “การสำรวจสถานะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Digital Maturity Survey 2023” เพื่อสะท้อนถึงสถานะและระดับความพร้อมของการเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลของ SMEs ไทยในปัจจุบัน ซึ่งผลสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง ไปดูกัน
· SMEs ไทย มีความพร้อมด้านดิจิทัล ในระดับ Digital Follower
จากการสำรวจสถานะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของ SMEs ในกลุ่มกิจการที่มีการสร้างมูลค่าสูงให้แก่เศรษฐกิจ (High Value Sector) ได้แก่ กลุ่มกิจการที่ขับเคลื่อน Digital GDP เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล ท่องเที่ยว การค้าดิจิทัล การบริการทางการเงิน บริการการศึกษา การบริการสุขภาพ เป็นต้น และกลุ่มกิจการภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve จำนวน 1,725 บริษัท ทั่วประเทศ ผ่านกรอบการประเมินใน 5 มิติ ทั้งในมุมกลยุทธ์ (Strategy) โครงสร้างและระบบ (Structure and System) กระบวนการและการบริหารจัดการ (Process and Operation) บุคลากรและวัฒนธรรมองค์กร (Personal and Culture) และลูกค้า (Customer) พบว่า SMEs ไทยส่วนใหญ่ 44.81% มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในระดับปานกลาง (Digital Follower) มีความเข้าใจ สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้เหมาะสม แต่ยังขาดการบูรณาการด้านดิจิทัลภายในองค์กรอย่างทั่วถึง รองลงมา 31.30% มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Native) มีความสามารถ
ในการเข้าถึงและใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นตัวช่วยในการบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานขององค์กร ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ลำดับต่อมา 20.47% เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในระดับต่ำ (Digital Novice) ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้อย่างเต็มที่ และมีเพียง 3.42% เท่านั้นที่มีความพร้อมในระดับสูง (Digital Champion) ที่ถือเป็นกลุ่มผู้นำในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัล รู้ทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถตอบสนองได้ทันท่วงที มองเห็นลู่ทางใหม่ๆ ในการนำดิจิทัลต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่
โดย SMEs ที่มีรายได้สูง อย่าง Medium Enterprises และภาคการผลิต จะมีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมากที่สุด และส่วนงานที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การตลาด รองลงมาคือ การเงินและบัญชี และการขาย หรือ Sales นั่นเอง
· 6 ความท้าทาย กับดักของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ไม่สำเร็จ
แม้วันนี้ SMEs ไทยส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านดิจิทัล สามารถเข้าใจและปรับตัวได้เหมาะสม แต่ในมุมของการใช้งานก็ยังมีประสิทธิภาพไม่มากนัก เพราะจากผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับ “กับดักความท้าทาย” ที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่ โดยความท้าทายที่ว่า ได้แก่ 1. ขาดแคลนทักษะและความสามารถด้านดิจิทัล 62.72% เพราะพนักงานส่วนใหญ่ กว่า 67.86% มีระดับทักษะด้านดิจิทัลอยู่ในขั้นพื้นฐาน ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างง่ายได้ หรือเป็นกาารใช้ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น 2. ต้องเจอกับต้นทุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่อยู่ในระดับสูงเกินไป กว่า 52.87% เนื่องจาก SMEs 87.08% ยังใช้ทุนส่วนตัวหรืองบประมาณของบริษัทในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีใหม่ในองค์กร ที่เหลือต้องเป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และขอสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ 3. ขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล 49.68% 4. ขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็นในการเปิดใช้งานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล 42.03% 5. ความซับซ้อนของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จนไม่สามารถตั้งต้นการดำเนินงานได้ 41.33% 6. ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันภายในองค์กร 11.30%
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความท้าทายอื่นๆ ที่ SMEs เจอ เช่น ในมุมของภาษีที่มีอัตราสูงและโอกาสในการแข่งขันที่น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนประเด็นของความท้าทายที่ต้องใช้เงินทุนที่เพิ่มขึ้น หากต้องจัดหาทั้งในด้านอุปกรณ์ โปรแกรม รวมถึงการฝึกพัฒนาทักษะพนักงาน โดย SMEs ส่วนใหญ่ที่ใช้ดิจิทัล มองว่า เลือกใช้ดิจิทัลเพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ขยายฐานลูกค้า และเพิ่มความสะดวกในการทำงานให้ดีขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งของ SME ที่ใช้งานดิจิทัลต่างก็มีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของความเสี่ยง เช่น ด้านข้อมูลขององค์กร ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูล หรือนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด เป็นต้น
· “งบประมาณ-สิทธิประโยชน์จากการใช้ดิจิทัล” อยากให้สนับสนุนมากที่สุด
เมื่อถามว่า SMEs อยากให้ภาครัฐ เข้ามาสนับสนุนในประเด็นไหนมากที่สุด เพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนผ่านทางด้านดิจิทัลเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จากผลสำรวจนี้ พบว่า ประเด็นที่ SMEs อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสนับสนุนมากที่สุด คือ ด้านการเงินและงบประมาณ ต้องการมากถึง 63.30% รองลงมาคือ การให้สิทธิประโยชน์หลังการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลในองค์กร 48.41% การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากรในองค์กร 44.17% การจัดหาช่องทางในการเข้าถึงและเกิดการจับคู่ทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับองค์กร 35.36% การรับรองมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในองค์กร 25.10% การสร้างความเข้าใจในประเด็นด้านกฎหมาย และมาตรฐานด้านดิจิทัล 23.07% การให้คำปรึกษา แนะนำในกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลได้อย่างตรงจุด 19.71% และตัวอย่างการใช้งานที่เหมาะสมจาก Use case ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เห็นแนวทางในการนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ 19.30%
· เจาะอินไซต์ เทคโนโลยีด้านไหนที่ SMEs ไทยต้องการใช้
เมื่อเจาะลึกถึงความต้องการของ SMEs ว่า ประเภทเครื่องมือ เทคโนโลยี หรือบริการดิจิทัลด้านใดที่พวกเขาต้องการอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน และอยากนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยยกระดับการดำเนินงานของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นนั้น พบว่า เทคโนโลยีด้านบริการธุรกิจ (Business Services) คือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดกว่า 33.86% โดยเฉพาะระบบการจัดการประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) เช่น การวิเคราะห์ความต้องการลูกค้า การจัดการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รองลงมาคือ เทคโนโลยีด้านการเงิน 25.04% ด้าน e-Commerce 11.65% ด้าน Digital Content หรือ ไลฟ์สไตล์ 10.84% และด้านอุตสาหกรรม 10.67% และที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้ จะต้องมีราคาที่ไม่สูงมากนัก เพื่อให้พวกเขานำมาใช้งานได้จริงด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลที่น่าสนใจ จากผลสำรวจ SME Digital Maturity Survey 2023 ของ ETDA ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงระดับความพร้อมทางด้านดิจิทัลและความท้าทายที่ SMEs ไทยต่างต้องเผชิญเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและวิเคราะห์ Policy Framework ที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลและระดับการเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะช่วยสะท้อนเห็นถึงโอกาสที่หน่วยงานรัฐ หรือเอกชน ตลอดจนผู้ให้บริการด้านดิจิทัล จะเข้ามาช่วยสนับสนุน เร่งผลักดัน ทั้งการเพิ่มทักษะของบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรม การสร้างให้เกิดแรงจูงใจเพื่อการปรับตัวของ SMEs ในการนำเทคโนโลยีมาใช้งานมากขึ้น ตลอดจนการกำหนดทิศทางการส่งเสริมที่ตรงจุด รวมไปถึงการมีกิจกรรมที่จะช่วยเสริมความพร้อมให้กับ SMEs ไทย ให้ขยับอยู่ในระดับที่ดีขึ้นได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในอนาคต
สำหรับใครที่ต้องการอ่านรายงานฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของ ETDA หรือที่ลิงก์ https://bit.ly/46fSQOe ติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลดีๆ ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand
#ETDAThailand #เอ็ตด้า #SMEDigitalMaturitySurvey #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล
ข่าวเด่น