เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษศาสตร์ ตบเท้าเรียกร้องรัฐบาลยกเลิก "นโยบายแจกเงิน Digital 10,000 บาท" ชี้เป็นนโยบาย "ได้ไม่คุ้มเสีย"


เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 กลุ่มนักวิชาการ และคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ 99 คน อาทิ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ,ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ,รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ทีดีอาร์ไอ และเหล่าคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท “เพราะเป็นนโยบายที่ ได้ไม่คุ้มเสีย” โดยมีเหตุผลดังนี้

1) เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้และร้อยละ 3.5 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้น การบริโภคภายในประเทศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ

ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.3 ซึ่งสูงที่สุดใน 20 ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออกมากกว่า

นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2) เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือ ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงิน เพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือ การใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอน หรือ การแจกเงินมีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ

4) เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตร หรือ กู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือ กู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น

หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืน หรือ กู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

5) ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลัง และสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) ทั้งนี้เพื่อสร้าง “ที่ว่างทางการคลัง” (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต

“นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆมาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนากต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย”

6) การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆที่ไม่มีความจำเป็น

7) สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกล จึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ระบบ blockchain ปกติจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกธุรกรรมโดยผู้ใช้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ข้อดีคือ ทำให้ไม่สามารถฉ้อฉลข้อมูลได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดตายของระบบด้วย เพราะแต่ละธุรกรรมจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจสอบประมาณ 1-1.5 ชั่วโมงต่อธุรกรรม และจะยิ่งใช้เวลามากขึ้น เมื่อจำนวนธุรกรรมและผู้ใช้เพิ่มขึ้น เวลาที่ใช้ก็จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเอามาใช้กับระบบซื้อขายตามปกติ

ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงความสิ้นเปลืองของเวลา และพลังงานในการทำการตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้ทุกคนด้วย หากรัฐบาลยังดึงดันจะแจกเงิน ก็ควรที่จะทำผ่านระบบเป๋าตังที่มีต้นทุนธุรกรรมที่ต่ำกว่า และประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงิน เพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทำลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแห ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทยและความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ต.ค. 2566 เวลา : 20:02:51
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 7:31 pm