ผู้ว่าธปท.ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย ระยะสั้นไม่น่าเป็นห่วง แต่ระยะยาวมีปัญหาเชิงโครงสร้างอ่อนแอ เปรียบเป็นโรคเรื้อรัง “เบาหวาน”การแก้ปัญหาไม่ใช่อัดยารักษา หรืออัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเน้นเพิ่มศักยภาพแรงงาน และลดอุปสรรคการทำธุรกิจ ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘ประเมินสุขภาพเศรษฐกิจไทย’ ภายในงาน ‘Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today’ จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566
โดยระบุว่าสุขภาพเศรษฐกิจในหมวดการฟื้นตัวด้านการบริโภคเติบโตได้ดี ซึ่งมีสัดส่วนในจีดีพีมากกว่าการส่งออกที่เหมือนจะมีน้ำหนักมาก แต่สุทธิแล้วส่งออกไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจเท่ากับการบริโภคที่มีน้ำหนักประมาณ 50%
ส่วนการฟื้นตัวท่องเที่ยวไทยโดยรวมที่ผ่านมาไม่ย่ำแย่เข้ามาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่หลังเกิดเหตุการณ์กราดยิ่งที่พารากอนจะกระทบการฟื้นตัวท่องเที่ยวไทยอย่างไร ส่วนการส่งออกไม่ค่อยดีจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ ขณะที่การลงทุน อาการไม่ค่อยดีโตแบบแผ่วๆ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับสุขภาพในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยด้านราคา หรือเงินเฟ้อโดยรวมถือว่าดี โดยเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้น 0.9% ต่ำที่สุดในอาเซียน และหลายประเทศในโลก (ล่าสุดเงินเฟ้อเดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้นเพียง 0.3%) แต่แนวโน้มเงินเฟ้อมีโอกาสเพิ่มขึ้น และปัจจัยเสี่ยงมาตรการของภาครัฐ ราคาพลังงาน และปรากฎการณ์เอลนีโญ
แต่เสถียรภาพการเงินที่น่าห่วงที่สุดคือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง 90% ต่อจีดีพีโดยทั่วไปไม่อยากเห็นตัวเลขเกิน 80% ต่อจีดีพี จึงเป็นที่มาที่ธปท.ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
มิติเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ถือว่าดี โดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับสูงอันดับ 11 ของโลก และเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ที่ 2.3 เท่า
ขณะที่เสถียรภาพด้านการคลัง ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 62%เทียบกับเกณฑ์ปกติก็ถือว่าสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤติ เพราะโครงสร้างการกู้ยืมของไทยไม่ได้พึ่งพาต่างประเทศ และพันธบัตรส่วนใหญ่เป็นระยะยาว
ผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุว่าที่น่าเป็นห่วงมากคือในแง่เชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เช่น ด้านแรงงานไทยมีปัญหาแก่ก่อนรวยมีปัญหารายได้ต่อหัวต่อต่ำ ขณะที่หลายประเทศรวยก่อนแก่ มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทยเช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น
นอกจากนี้ศักยภาพแรงงานของไทยแข่งขันไม่ได้ สะท้อนจากคะแนน PISA ด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยอยู่อันดับ 54 จาก 79 ประเทศ ต่ำกว่าเวียดนาม มาเลเซียและบรูไน
ขณะที่เรื่องการลงทุนของไทยอาจโตไม่ดีเท่าที่ควร โดยการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI ) ส่วนแบ่งตลาดมีแนวโน้มค่อนข้างต่ำกว่าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดย อินโดนีเซีย เวียดนาม เนื้อหอมแซงไทย แต่ไทยอยู่เคียงกับมาเลเซีย
ส่วนด้านนวัตกรรม R&D ของไทยอยู่ในเกณฑ์ไม่ค่อยดี แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจีสติกของไทยค่อนข้างดีเทียบในอาเซียนไทยเป็นรองสิงคโปร์ประเทศเดียว ส่วนปัญหาคอร์รัปชันอยู่ที่ 101 จาก 180 ประเทศ
“สรุปภาพที่ออกมา เรื่องการฟื้นตัวโดยรวมค่อนข้างโอเค และเห็นต่อเนื่องจากการบริโภคดี นักท่องเที่ยวสนับสนุน แม้ปีนี้แบงก์ชาติจะปรับลดจีดีพี แต่ปีหน้าปรับขึ้น จากมาตรการรัฐ และส่งออกดีขึ้น ดังนั้นมั่นใจการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โอกาสจะเห็นตกวูบน้อย
ในแง่เสถียรนภาพโดยรวมโอเคมีบางจุดที่กังวล เช่น หนี้ครัวเรือน เป็นความเปราะบางมาสักพัก และควรใส่ใจด้านการคลังไม่ให้แย่ลง แต่ที่อ่อนมากๆ คือเชิงโครงสร้างศักยภาพในการเติบโตระยะยาว หมวดนี้มีปัญหา ถ้าเทียบกับคนไม่ใช่คนไข้ที่นอนบนเตียง แต่ออกจากโรงพยาบาลไปบ้าน แต่การฟื้นตัวต้องใช้เวลา อย่าหักโหม ไปวิ่งมาราธอน
การที่เสถียรภาพโอเค โอกาสจะเกิดโรคหัวใจฉับพลันไม่มี แต่ปัญหาที่มีเป็นโรคเรื้อรังอยู่กับเรายาวนาน เหมือนเป็นเบาหวาน ถ้าไม่ปรับจะกระทบสุขภาพ และศักยภาพระยะยาว” ผู้ว่าการธปท.กล่าวและว่า
วิธีที่จะรักษาก็ต้องตรงกับอาการกับสภาพร่างกาย ดังนั้นความจำเป็นต้อง “เหยียบคันเร่ง” การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่จำเป็น แต่โรคที่ต้องดูแลคือเป็นเรื่องระยะยาว เรื่องโครงสร้าง ทาง ธปท.ก็ปรับการรักษาให้สอดคล้องกับบริบทกับคนไข้
ธปท.ก็ได้ปรับการรักษาให้ตรงกับบริบทของคนไข้ โดยในช่วงแรกคนไข้เจอโควิด ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ตอนนั้นต้องจัดยาแบบจัดเต็ม เหยียบคันเร่งเต็ม ดอกเบี้ยต่ำ เรื่องสภาพคล่องก็จัดเต็ม ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ออก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ลูกหนี้ไม่มีรายได้ก็พักหนี้ แต่เวลาผ่านไปแล้ว คนไข้เริ่มฟื้นแล้ว ถ้ารักษาแบบเดิม ใช้ยาแบบแรงๆ คงไม่เหมาะกับบริบท เพราะยาก็มีผลข้างเคียงทั้งนั้น
ดังนั้น สิ่งที่ธปท.ทำ คือ เริ่มถอนคันเร่ง ดอกเบี้ยที่เคยต่ำ 0.5% ก็ค่อยๆทยอยขึ้น แต่ด้วยความที่คนไข้อ่อนแอ และต้องใช้เวลาฟื้น เราก็ค่อยๆขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่เศรษฐกิจฟื้นขึ้นเร็วขึ้นแรง ส่วนเรื่องฝั่งหนี้สิน ที่เคยพักในวงกว้างก็ถอด เพราะเป็นยาแรงเหมือนให้สเตียรอยด์ ส่วนโรคเชิงโครงสร้าง ฝั่งที่เป็นหนี้เรื้อรังก็ต้องออกมาตรการให้เหมาะกับหนี้เรื้อรัง นี่เป็นตัวอย่างปรับการรักษาให้ตรงสภาพของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา
เมื่อเห็นปัญหาจริงๆ ไม่ใช่การฟื้นตัว และเสถียรภาพ แต่ปัญหาเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง ซึ่งการรักษาที่ผ่านมาเราจะเน้นเรื่องเงิน โดย 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ล่าสุด 3.2 ล้านล้านบาท ในนี้งบประมาณ 75% เป็นงบประจำ และในงบประจำเองพบว่ากว่า 70% เป็นงบที่เหมือนตัดยาก เช่น เงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการ ซึ่งถอยยาก จึงเหลือช่องว่างที่จะใช้สำหรับอย่างอื่นไม่มาก เช่น การลงทุน
ขณะที่ การลงทุนที่ผ่านมาจะไปเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพซึ่งก็ดี แต่จุดที่อ่อนแอจริงๆของไทย คือ เรื่องคุณภาพแรงงาน เรื่องการศึกษา ทักษะ นวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา ดังนั้น วิธีที่จะรักษาตัวนี้ได้ จะต้องไปดูที่ปัญหาในเชิงโครงสร้าง
โดยมียาประเภทหนึ่งที่พูดได้ ผลข้างเคียงน้อย ต้นทุนต่ำ น่าใช้เหมาะสม ซึ่งควรนำมาใช้ นั่นก็คือ Regulatory Guillotine หรือ “การลด ละ เลิก” อะไรที่เป็นอุปสรรค เพื่อช่วยให้การทำธุรกิจในไทยง่ายขึ้น ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และแนวทางนี้มีผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI ) พบว่า จะช่วยลดต้นทุนเอกชนได้ 0.8% ของจีดีพี หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้
โดยไทยมีโอกาสที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก เช่น ระหว่างสหรัฐกับจีน การปรับเปลี่ยนเรื่องซัพพลายเชน ซึ่งส่งผลต่อการลงทุน แต่การที่ประเทศไทยเป็นมิตรที่ดีกับทุกคน แม้จะไม่ใช่เพื่อนซี้ที่สุดกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เมื่อประเทศอย่างสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ต่างก็ให้ความสำคัญกับประเทศไทย ดังนั้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ไทยจะได้รับโอกาสตรงนี้ แม้ว่าเราจะมีปัญหาเรื่องศักยภาพก็ตาม
“เศรษฐกิจไทยระยะสั้นไม่ห่วง แต่ระยะยาวต้องแก้ปัญหา และวิธีแก้ปัญหาก็อาจไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ถ้าทำเรื่อง easy of doing business ให้ดีขึ้น ลดอุปสรรค โอกาสสำหรับประเทศไทย ในการดึงดูดการลงทุนต่างๆมีอยู่” ผู้ว่าการธปท. กล่าว
ข่าวเด่น