นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล "เศรษฐา 1" ได้ไม่คุ้มเสีย สะท้อนจากค่าตัวทวีทางการคลังต่ำกว่า 1 เท่า ขณะที่โฆษกรัฐบาลตั้งคำถาม "ทฤษฎี VS ชีวิตจริง" จะเชื่อถืออะไร
นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะโอนเงินโดยตรงให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ครอบคลุมประชาชนกว่า 56 ล้านคน ทำให้ต้องใช้เงินมากกว่า 560,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายหลักนโยบายหนึ่งของพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับสอง หรือมีจำนวนที่ส.ส.ถึง 141 ที่นั่ง
และเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ก็เดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นหนึ่งนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปีนี้ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล และทำเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ดีคาดว่าปลายเดือนตุลาคมนี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมดของมาตรการที่ชัดเจน
แต่แนวนโยบายดังกล่าว สร้างความกังวลให้กับนักเศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของไทยจำนวนมาก โดยร่วมกันลงชื่อออกเป็นแถลงการณ์คัดค้านและประเมินว่าเป็นนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” โดยเหตุผลหนึ่งที่ระบุว่าในแถลงการณ์คัดค้านคือ
“การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐ แจกเงินจํานวน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทําให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐใน ลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงินมีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลือนลอย”
ทั้งนี้ การประเมินประสิทธิผลของมาตรการเร่งใช้จ่ายของรัฐ ในทางเศรษฐศาสตร์จะวัดจาก “ตัวทวี ทางการคลัง” หรือ fiscal multiplier ถ้าตัวทวีคูณทางการคลังมีขนาดต่ำกว่า 1 เท่า หมายความว่าเงินทุก 1 บาทที่ภาครัฐใช้ใน การทำนโยบาย ส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่า 1 บาท
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยศึกษาแรงกระตุ้นของนโยบายการคลังในปี 2558-2559 พบว่า มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผ่านการใช้จ่ายเงินโอนให้ค่าตัวทวีต่ำสุดที่ 0.4 เมื่อเทียบกับรายจ่ายอื่น เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดการผลิตและการจ้างงานโดยตรง มักใช้เยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำอย่างไรก็ดี การใช้จ่ายประเภทนี้ เร่งจ่ายได้เร็วและถึงมือประชาชนโดยตรง
ส่วนรายจ่ายอุปโภคภาครัฐมีค่าตัวทวีเท่ากับ 1 รายจ่ายประเภทนี้มีส่วนรั่วไหลน้อย และเม็ดเงิน ส่วนใหญ่ถูกน่าไปใช้จ่ายในภาคบริการ ซึ่งสร้างมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางอ้อมสูง โดยการเบิกจ่ายเงิน ประเภทนี้ถึงมือประชาชนค่อนข้างเร็ว อาทิ การเบิกจ่าย เงินเดือนข้าราชการ การซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่ รายจ่ายลงทุนมีค่าตัวทวีเท่ากับ 0.8 ส่วนหนึ่ง เพราะรายจ่ายลงทุนมีการใช้ปัจจัยการผลิตนำเข้า ซึ่งถือเป็นการรั่วไหลออกจากระบบเศรษฐกิจ
สอดคล้องกับ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ซึ่งรวบรวมผลการศึกษาจากทั้งไทยและต่างประเทศ พบว่าผลที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ หรือเรียกว่าตัวทวี ทางการคลัง (Fiscal Multiplier) มีขนาดต่ำกว่า 1 เท่าแทบทั้งสิ้น หมายความว่า แม้ว่าการแจกเงินเป็นการทั่วไปอาจทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย แต่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าต้นทุนต่อรัฐจากเงินที่แจกออกไป
ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย คือ 1) การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของคนส่วนใหญ่ เป็นการใช้จ่ายเพื่อทดแทนสินค้าเดิมที่มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การซื้อสินค้าจำเป็นที่ใช้ภายในบ้าน การซื้ออาหาร ทำให้การแจกเงินไม่ได้สร้างอุปสงค์ใหม่ทั้งหมด 2) การใช้จ่ายบางส่วนมีสัดส่วนของการนำเข้าค่อนข้างสูง (Import Leakage) ตัวอย่างเช่น การใช้เงินเพื่อซื้อ โทรศัพท์มือถือซึ่งไม่ได้ผลิตในไทยจะไม่ส่งผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และ 3) อาจมีการนำอุปสงค์ใน อนาคตมาใช้ ทำให้มีการปรับลดการใช้จ่ายเมื่อโครงการจบลง นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ไม่ใช่ประชาชน ทุกคนที่จะเข้าร่วมและใช้จ่ายเงินทั้งหมด
ทั้งนี้ KKP Research ประเมินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินที่ใช้ราว 554,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 3.19% ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดเมื่อเทียบกับนโยบายเร่งด่วนอื่นๆของรัฐบาล และประเมินว่านโยบายนี้จะกระตุ้นการบริโภค 2.2% และส่งผลทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.96%
นอกจากนี้ KKP Research ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดที่รัฐบาลใหม่กำลังจะดำเนินการจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1% จากต้นทุนด้านงบประมาณที่ต้องใช้สูงถึงกว่า 3.6% ของ GDP หรือคิดเป็น 18% ของวงเงินงบประมาณเดิม การขาดดุลการคลังต่อปีที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้หนี้สาธารณะแตะกรอบบนที่ 70% ได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี
ที่มา: SCB EIC
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ก็ประเมินเช่นเดียวกันว่าการใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP เร็วขึ้นประมาณ 2 ปี ซึ่งอาจจะกระทบพื้นที่การคลังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้
ขณะที่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลนั้นยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในแง่ของการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เป็นระบบหลักของธุรกรรม แต่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งบางส่วนยังไม่คุ้นเคย และอาจขลุกขลักได้ในระยะเริ่มแรก
ในเบื้องต้น Krungthai COMPASS ประเมินว่า ตัวคูณทวีทางการคลังในรอบการหมุนปีแรกอยู่ที่ประมาณ 0.4-0.7 เท่า ซึ่งเมื่อรวมถึงผลของนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลดังกล่าวแล้ว คาดว่า GDP ในปี 2567 อาจขยายตัวได้ในกรอบ 4.4-5.0%
ดังนั้น หากวัดการประเมินประสิทธิผลของนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยพิจารณาจากตัวทวี ทางการคลัง บ่งชี้ว่ามีประสิทธิผลต่ำกว่าเม็ดเงินที่จ่ายออกไป หรือ ได้ไม่คุ้มเสีย และอาจเป็นความเสียงทางการคลังทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 70% เร็วขึ้นอีก 2 ปี นี่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นตรงกัน ยังไม่นับรวมเรื่องค่าเสียโอกาสอื่นๆ ที่มีความกังวลไม่แพ้ประเด็นนี้
อย่างไรก็ดี ในมุมของรัฐบาลโดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า มีคนกลุ่มหนึ่งแปลผลสภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วยตัวเลขและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่ากำลังฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว ขอเพียงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเอาไว้ให้ดีก็พอแล้ว
ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศพิสูจน์ทราบสถานะและความเป็นจริงของเศรษฐกิจด้วยชีวิตจริงที่ยากลำบาก ขัดสน และด้อยโอกาส แถมติดหล่มหนี้สินครัวเรือนเรื้อรัง รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต่างส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้เกิดการขยายตัวด้วยโครงการต่อเนื่องทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
“คนกลุ่มนี้ต่างต้องการโอกาส สร้างรายได้ใหม่เพื่อพลิกฟื้นชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ต้องการทนอยู่ในสภาพยากไร้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถามว่า…ทฤษฎี VS ชีวิตจริง อย่างไหนจะแม่นยำน่าเชื่อถือกว่ากัน?” นายชัย กล่าว
ข่าวเด่น