เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมถึงพันธมิตรชั้นนำ ร่วมจัดกิจกรรม “Rethink Pink We Care” เป็นปีที่ 2 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ตั้งแต่สาเหตุของการเกิดโรค การรักษาโรค การเตรียมความพร้อมก่อนการเกิดโรค ตลอดไปจนถึงการดูแลตนเองเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง ณ ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช
แอสตร้าเซนเนก้า สานต่อกิจกรรม “Rethink Pink We Care” ร่วมกับพันธมิตรต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยในสตรี พร้อมร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น นำเสนอแนวทางการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันให้แก่ประชาชน รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อให้อยู่กับโรคมะเร็งได้อย่าง ไร้กังวล
นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในสตรีแอสตร้าเซนเนก้า มีเป้าหมายที่จะยกระดับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผ่านการนำข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ มาต่อยอดการดูแลรักษาผู้ป่วย สำหรับประเทศไทย เราได้ทำงานร่วมกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ในการสนับสนุนและส่งเสริมการให้ความรู้ แนวทางการวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พร้อมทั้งออกแบบช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ทุกคนได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ ที่จะช่วยดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช (Siriraj Genomics) เป็นหน่วยงานสำคัญในการวิจัยและถอดรหัสพันธุกรรมภายใต้โครงการ จีโนมิกส์ ประเทศไทย (Genomics Thailand) และทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการบูรณาการเทคโนโลยีจีโนมเข้ากับการวิจัยและบริการทางคลินิก และส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) และ การรักษาแบบแม่นยำ (Precision Medicine) ในโรงพยาบาลศิริราช โดยมีเป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยอย่างตรงจุด ผ่านการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรมร่วมกับข้อมูลสุขภาพ เพื่อการวิเคราะห์ การวินิจฉัย และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดการเจ็บป่วย และป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า "การทำความเข้าใจมะเร็งและการกลายพันธุ์ของยีน (gene) บีอาร์ซีเอ (BRCA) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน และเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในนั้นอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ซึ่งการระบุการกลายพันธุ์ของยีนอย่างเฉพาะเจาะจง จะทำให้แพทย์สามารถปรับกลยุทธ์การรักษาให้เหมาะสม เนื่องจากยีนทุกตัวตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกัน ดังนั้น การทดสอบทางพันธุกรรมไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับผลตรวจที่แม่นยำเท่านั้น แต่ยังปูทางไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้นอีกด้วย”
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) และ บีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) ได้ทุกสิทธิ์การรักษา ซึ่งหากผลการตรวจคัดกรองพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม ญาติสายตรงซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตร ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จะได้รับการติดตามให้มาตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมให้กับญาติสายตรงต่อไป
ภายในกิจกรรม “Rethink Pink We Care” ครั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้ายังได้รับความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำ โครงการ และสถาบันเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากมาย อาทิ บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด ในการร่วมแนะนำแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งพันธุกรรมด้วยตัวเอง คุณ อัจฉรา สัมฤทธิวณิชชา ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ผ่านมุมมองของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ธนาคารทิสโก้ ในการวางแผนการเงินเมื่อพบเจอกับโรคร้าย และ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญในการดูแลผิวหนังในผู้ป่วยโรคมะเร็ง พร้อมทั้งพันธมิตรอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Tumour clinic (สถานวิทยามะเร็งศิริราช) โครงการ Art for Cancer ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย (Thailand Breast Cancer Community) สถานวิทยามะเร็งศิริราช (SiCA) และ บริษัท ยีนพลัส จำกัด
ข่าวเด่น