การตลาด
กลุ่มธุรกิจ TCP ผนึกพันธมิตร ส่งต่อแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero สู่ผู้ประกอบการ 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero : วางกรอบจรรยาบรรณธุรกิจ - ประเมินความเสี่ยงและวางเป้าหมายที่เป็นไปได้ - เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ - กล้าที่จะลงทุนเพื่ออนาคต - ร่วมมือกับพันธมิตร


 
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ข่าวภัยพิบัติและปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกนับเป็นสัญญาณเตือนถึงความเร่งด่วน ที่ทุกภาคส่วนต้อง “ลงมือทำ” ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ซึ่งกลุ่มธุรกิจ TCP ได้จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition...From Commitment to Action” พร้อมจัดประชุมกลุ่มย่อยสำหรับพันธมิตรมาร่วมแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับธุรกิจ เพื่อนำไปปรับใช้ในองค์กร ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เพื่อวันที่ดีกว่าได้เร็วขึ้น
 
 
ในงานนี้ ดร.ธนพัฒน์ พรรธนะประเทศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัพพลายเชน กูรู จำกัด ได้ให้ข้อคิดจากมุมมองของคนทำงานว่า เรื่องความยั่งยืน จะกลายเป็นธรรมเนียมปกติของธุรกิจเหมือนมาตรฐาน ISO ที่ธุรกิจคุ้นเคย โดยต้องผนึกกำลัง (Integration) ทั้งภายในองค์กรและกับพาร์ตเนอร์ภายนอกทั้งซัพพลายเชน และอย่ามองว่าเป็นอุปสรรค แต่คือโอกาสและการลงทุน
 
 
“ตัวอย่างเช่นการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าโดยไม่หยุดชะงักได้ก็ต่อเมื่อ ธุรกิจที่ส่งมอบให้เราไม่หยุดชะงักด้วย ในปัจจุบัน ลูกค้า ตลาด และสังคม เปลี่ยนไปตลอด การที่เรายืนหยัดมาได้ แสดงว่าการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ธุรกิจทำได้ นอกจากช่วยดึงดูดลูกค้าปัจจุบันแล้ว จะทำให้ลูกค้าใหม่ เลือกเราด้วย ซึ่งความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถทำได้โดยไปทีละขั้น เพื่อให้วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน และพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้” ดร.ธนพัฒน์  กล่าว
 
 
ดร.ธนพัฒน์ ได้อธิบายถึงหลักสากล 10 ประการของการรจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management) ตาม UN Global Compact (UNGC) ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกท่านได้ดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลผู้ประกอบการควรศึกษาแนวทางปฏิบัติของ UNGC และแบบอย่างจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือทัศนคติของการดำเนินการอย่างจริงจังเข้มแข็ง
 
หลักสากล 10 ประการของการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนตาม UN Global Compact (UNGC) มีดังต่อไปนี้
 
ด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights) มี 2 ประการ คือ การสนับสนุนและเคารพการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแน่ใจว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ด้านแรงงาน (Labour) มี 4 ประการ คือ ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเคารพสิทธิในการเจรจาร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล ยุติการใช้แรงงานบังคับและแรงงานที่ใช้การบังคับทุกรูปแบบ ยกเลิกการใช้แรงงานเด็กอย่างมีประสิทธิผล และขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ
 
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) มี 3 ประการ คือ สนับสนุนแนวทางเชิงป้องกันเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ริเริ่มโครงการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
ด้านการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption) มี 1 ประการ คือ ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ รวมถึงการขู่กรรโชกและการติดสินบน


 
บทเรียนจากกลุ่มธุรกิจ TCP - From Commitment to Action
 
นายขจรศักดิ์ เปลี่ยนสกุล ผู้อำนวยการสายงานซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า การเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero นั้น กลุ่มธุรกิจ TCP เน้นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับเพิ่มผลกระทบเชิงบวกใน 4 ด้านหลัก ดังนี้
 
พลังงานยั่งยืน ด้วยการจัดการพลังงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิงชีวมวลและติดตั้ง Solar Rooftop ลงทุนระบบโรงงานอัจฉริยะ จนผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED ทั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยและโรงงานในประเทศจีน รวมถึงเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ในระบบขนส่ง
 
 
บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน  ลดการใช้วัสดุทั้งขวดแก้ว ขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียม  ยกเลิกขวดสี ใช้กล่องจากกระดาษมาตรฐาน FSC และจัดการบรรจุภัณฑ์ผ่านการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Aluminum Loop และภาคีภาคประชาสังคม คือ IUCN ในโครงการบริหารจัดการขยะในชุมชนที่จังหวัดระนอง รวมถึงระดับอุตสาหกรรมกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
 
จัดการน้ำยั่งยืน ลดการปล่อยน้ำเสีย และคืนน้ำให้ชุมชนได้กว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย
 
เพิ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ 70% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เพื่อส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้บริโภค

 
เคล็ดลับสำหรับผู้ประกอบการ ปลุกพลังซัพพลายเชน “ทำวันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”
 
พันธมิตรของกลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วยผู้บริหารจากบีไอจี น้ำตาลมิตรผล และไทย มาลายา กลาส (BJC Glass) มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติจริง สำหรับธุรกิจในการเริ่มดำเนินการเพื่อความยั่งยืน  ดังนี้

 
1. วางกรอบจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of conduct)
 
วางกรอบทิศทาง จะทำให้การเริ่มต้นง่ายขึ้น นายวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เห็นว่าธุรกิจอาจเริ่มต้นในส่วนที่คิดว่าทำได้ โดยเริ่มทำกับพันธมิตรบางส่วนและเน้นในบางด้านก่อน และวางกรอบจรรยาบรรณ (Code of conduct) ของธุรกิจ โดยจัดลำดับความสำคัญแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ การทำงานด้านความยั่งยืน ควรระบุเจาะจง เพราะเรื่องนี้ไม่มีคู่แข่ง บริษัทใหญ่ต่างเปิดเผยเรื่องนี้ให้สามารถดำเนินรอยตามได้ เริ่มทำตามกำลัง แล้วค่อยขยายไปยังส่วนอื่นๆ
 
 
2. ประเมินความเสี่ยงและวางเป้าหมายที่เป็นไปได้  
 
จะเริ่มที่ตรงไหน คงเป็นคำถามในใจเมื่อพิจารณาถึงหลัก SDGs ที่มีมากถึง 17 ข้อ นางสาวทิพวรรณ อังศิริ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท ไทย มาลายา กลาส จำกัด แนะนำให้พิจารณาว่าประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืนขององค์กรคืออะไร ให้ลงมือทำด้านนั้นก่อน และควรตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้ เพื่อให้ติดตามผล และประสบความสำเร็จไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น ไทย มาลายา กลาส ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยะ บรรจุภัณฑ์ จึงดำเนินการด้านเหล่านี้ ก่อนที่ส่วนอื่นจะตามมา ที่สำคัญคือ การสร้างความตระหนักรู้ของพนักงานผ่านกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้และมีส่วนร่วม องค์กรจึงจะขับเคลื่อนไปได้
 
 
3. เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้   
การเริ่มต้นนั้นยาก แต่องค์กรต้องปรับตัวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศนั้น นายวรวัฒน์ เห็นว่าธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิลมาก ยิ่งต้องเริ่มดำเนินการ เพราะในอนาคต พันธมิตรทางธุรกิจหรือธนาคาร จะพิจารณาประเด็นนี้มากขึ้น ตัวอย่างเรื่องภาษีคาร์บอน ถ้าการปล่อยคาร์บอนถึงจุดที่ต้องเสียภาษี อาจต้องไปซื้อจากองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนน้อย หมายความว่าธุรกิจเราจะต้องจ่ายเงินให้คู่แข่ง
 
นางสาวทิพวรรณ ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องลงมือทำ กล่าวว่า “เราคือคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ และจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะแก้ไข จึงต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคต ทำวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้”
 
 
4. กล้าที่จะลงทุนเพื่ออนาคต
แน่นอนว่าการลงมือทำเพื่อสร้างความยั่งยืน เป็นการมองไปยังอนาคต นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บีไอจี แบ่งปันมุมมองต่อการลงทุนล่วงหน้าว่า “ความยั่งยืนคือ โอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและภาคสังคมได้ ควรมองไปไกลถึง 10 - 20 ปีข้างหน้าว่าจะสามารถลงทุนอะไรได้ ถ้าไม่มุ่งมั่นและไม่เริ่มต้นวันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะสายไปแล้ว และเชื่อว่าธุรกิจต่างๆ จะหาโอกาสนั้นเจอ”
 
 
5. ร่วมมือกับพันธมิตร
ทุกองค์กรเห็นตรงกันว่า ความร่วมมือกับพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรสามารถเริ่มดำเนินการกับพันธมิตรในส่วนที่ทำได้ก่อน สร้างพลังของการผนึกกำลังกันทั้งภายในและนอกองค์กร เพื่อให้ห่วงโซ่บริการไม่สะดุดลงกลางคัน
 
นางสาวทิพวรรณ กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือ ภาคีเครือข่าย เพราะถ้าเราเดินไปด้วยกัน จะทำให้ไปได้ไกล และไปได้เร็ว อย่างเช่นการออกแบบผลิตภัณฑ์น้ำหนักเบาร่วมกับพันธมิตร เพื่อลดการใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งเนื่องจากขวดมีน้ำหนักเบาลง และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วย และการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ผ่านการร่วมสนับสนุนแอปพลิเคชันการจัดการขยะ C3Leng (ซีซาเล้ง) ที่ไม่เพียงเป็นแพลตฟอร์มที่หลายองค์กรใช้ในการนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แต่ยังมีส่วนช่วยให้คนเก็บของเก่าหารายได้ได้เพิ่มขึ้น การขยายการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยเสริมให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ในที่สุด”

 
กลุ่มธุรกิจ TCP ในฐานะผู้จัดงาน เชื่อว่าเวทีในปีนี้จะช่วยจุดประกายให้เกิดความริเริ่มใหม่ สร้างสรรค์แรงบันดาลใจ และแนวคิดเชิงนวัตกรรม ผลักดันให้ทุกภาคส่วนมองไปข้างหน้าและปรับตัวไปด้วยกันในอัตราเร่งมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Transition) และเชื่อมั่นว่า “การลงมือทำ” ในวันนี้ จะปลุกพลังสร้างการ “เปลี่ยนผ่าน” สู่วันที่ดีกว่า สำหรับเราทุกคน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ต.ค. 2566 เวลา : 17:04:51
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 2:29 pm