เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "ส่งออกไทยเดือน ก.ย. ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน และจะขยายตัวต่อในไตรมาส 4 SCB EIC มองผลกระทบสงครามอิสราเอลต่อส่งออกไทยยังจำกัด"


 

 
ส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ย. ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน 
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 2023 อยู่ที่ 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.1%YOY ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมีแรงสนับสนุนหลักมาจาก (1) มูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นมาก (64.8%YOY, 1.4%CTG) (รูปที่ 3 และรูปที่ 4) (2) ภาวะเศรษฐกิจจีนปรับดีขึ้นเล็กน้อย และ (3) ราคาสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC+ และความต้องการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารจากสถานการณ์ภัยแล้ง สำหรับภาพรวมการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 มีมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงหดตัวที่ -3.8% 

การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัว ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว 
 
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าในเดือน ก.ย. ปรับดีขึ้นหลายกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัว 17.7% ต่อเนื่องจาก 4.2% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะผลไม้สด ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง และผลไม้แห้ง รวมถึงข้าว ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเป็นสินค้าเกษตรหลักที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัว 5.4% หลังจากหดตัวมากถึง -7.6% ในเดือนก่อน เป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของหลายประเทศเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งและนโยบายห้ามส่งออกสินค้าเกษตรของบางประเทศ เช่น อินเดีย (3) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัว 13.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ (4) สินค้าอุตสาหกรรมพลิกกลับมาหดตัวอีกครั้ง -0.3% หลังจากขยายตัว 2.5% ในเดือนก่อนที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษออกจากประเทศ โดยอัญมณีและเครื่องประดับ (หักทอง) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกขยายตัวดีในเดือนนี้ ขณะที่การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่หดตัว

การส่งออกกลับมาขยายตัวในหลายตลาดสำคัญ รวมถึงจีน  
 
ภาพรวมการส่งออกสินค้ารายตลาดในเดือน ก.ย. พบว่า (1) การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ หดตัวรุนแรง -10% หลังจากขยายตัวมากในเดือนก่อนถึง 21.7% จากปัจจัยพิเศษที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ (2) การส่งออกไปจีนขยายตัว 14.4% สูงสุดในรอบ 5 เดือนหลังจากขยายตัว 1.9% ในเดือนก่อนตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่เริ่มปรับดีขึ้นบ้าง (3) การส่งออกไปฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวสูงจากทองคำเป็นหลักซึ่งเป็นสินค้าส่งออกไทยสำคัญไปยังสองตลาดนี้ โดยการส่งออกไปฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวมากถึง 80.4% และ 749.8% ตามลำดับ จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) ที่ขยายตัวมากถึง 359.6% และ 3,769.9% ในสองตลาดหลักนี้ ตามลำดับ 

ดุลการค้า (ระบบศุลกากร) เกินดุลสูงถึง 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย. จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 64.8% ขณะที่การนำเข้าทองคำหดตัวสูง -89.4% มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 23,383.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว -8.3% รุนแรงน้อยลงจาก -12.8% ในเดือนก่อน โดยการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าในเดือนนี้มาจากการนำเข้าทองคำที่หดตัวมากถึง -89.4% เป็นหลัก หากหักทองคำแล้ว มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวเพียง -3.2% รุนแรงน้อยสุดในรอบ 4 เดือน สำหรับดุลการค้า (ระบบศุลกากร) ในเดือนนี้เกินดุล 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลสูงที่สุดในรอบ 6 เดือนหลังจากเกินดุล 359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้าจากปัจจัยพิเศษที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้าในกลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ ในภาพรวม 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 ดุลการค้า (ระบบศุลกากร) ยังคงขาดดุล -5,832.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SCB EIC คาดว่าในกรณีฐานสงครามในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อการค้าไทยจำกัด เนื่องจากอิสราเอลและไทยมีสัดส่วนการค้าระหว่างกันโดยตรงไม่มากนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ไทยไม่ได้มีสินค้าส่งออกและนำเข้าที่พึ่งพาอิสราเอลและปาเลสไตน์มากเป็นพิเศษ (รูปที่ 5) อย่างไรก็ดี หากสงครามขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นและยืดเยื้อขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกสินค้าของไทยผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนของตลาดการเงินโลก นอกจากนี้ สงครามที่รุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจกระทบศักยภาพการส่งออกของไทยในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับซาอุดีอาระเบีย โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น เช่น การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำ FTA หรือ CEPA กับไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ภาครัฐยังตั้งเป้าให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นฐานในการเข้าถึงตลาดส่งออก
ในภูมิภาคแอฟริกาต่อไปอีกด้วย

การส่งออกของไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยฐานต่ำในไตรมาส 4 ของปี 2023  อย่างไรก็ดี การเติบโตของการส่งออกช่วงท้ายปี จะไม่สามารถชดเชยภาพรวมการส่งออกตั้งแต่ต้นปีที่หดตัวแรงได้ ส่งผลให้ SCB EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้า (ระบบดุลการชำระเงิน) ในปี 2023 มีแนวโน้มหดตัว -1.5% แต่มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.5% ในปี 2024 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการค้าโลกในปี 2024 ที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายขึ้น รวมถึงปัจจัยราคาส่งออกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และปัจจัยฐานต่ำในปี 2023 สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทยมาจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อาจตึงตัวมากกว่าคาดกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงมากกว่าคาด ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วไทยที่อาจกระทบปริมาณการส่งออกแม้ทำให้ราคาสูงขึ้น รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะสงครามในอิสราเอลที่นับว่าเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ยังต้องจับตา

รูปที่ 1 : ภาพรวมมูลค่าการส่งออกรายสินค้ามีแนวโน้มดีขึ้นบ้าง ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 2 : การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์และฮ่องกงขยายตัวสูงมากจากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะทองคำ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 3 : การส่งออกผลไม้ ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าวเป็นสินค้าหลักที่สนับสนุนการเติบโตของการส่งออกไทยเดือน ก.ย. นี้ ขณะที่คอมพิวเตอร์เป็นสินค้าสำคัญที่หดตัวแรง
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
รูปที่ 4 : การส่งออกในเดือน ก.ย. ได้รับแรงสนับสนุนชั่วคราวจากการส่งออกทองคำ ขณะที่การส่งออกในเดือนก่อนได้รับแรงสนับสนุนชั่วคราวจากการส่งออกยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษกลับสหรัฐฯ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

รูปที่ 5 : อิสราเอลและไทยมีสัดส่วนการค้าไม่มาก ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญ
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
 
บทวิเคราะห์โดย... www.scbeic.com/th/detail/product/trade-241023

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
 
 
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ (natnicha.sukprawit@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์
 
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์ นักเศรษฐศาสตร์
ณัฐณิชา สุขประวิทย์ นักเศรษฐศาสตร์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักเศรษฐศาสตร์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์
วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักเศรษฐศาสตร์
 

LastUpdate 27/10/2566 15:05:08 โดย : Admin
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 2:52 pm