• เงินบาทแข็งค่าขึ้น หลังตัวเลขส่งออกไทยเดือนก.ย. ขยายตัวดีกว่าคาด ขณะที่ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยในระหว่างสัปดาห์
• SET Index ปรับตัวลงท่ามกลางปัจจัยลบ อาทิ สถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อน โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ (หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลง) ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทยที่ขยายตัวมากกว่าที่คาด และการกลับเข้ามาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด หนุนบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้น เงินบาทกลับมาปรับตัวในกรอบแคบในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลง หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีไม่สามารถทรงตัวเหนือระดับ 5.00% ได้ ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์ในอิสราเอล และผลการประชุมเฟดในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.
ในวันศุกร์ที่ 27 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,598 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,695 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 10,973 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,278 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (30 ต.ค. – 3 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (31 ต.ค.-1 พ.ย.) รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย. ของธปท. สัญญาณเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนต.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ และ BOE ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซน และข้อมูล PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ หลังร่วงลงแรงในระหว่างสัปดาห์ โดยภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โอกาสที่เฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคป อนึ่ง หุ้นกลุ่มที่กดดันตลาดตลอดสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเผชิญแรงขายสอดคล้องกับหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และกลุ่มแบงก์ซึ่งเผชิญแรงขายทำกำไรหลังประกาศงบฯ ไตรมาส 3/66
ในวันศุกร์ที่ 27 ต.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,388.23 จุด ลดลง 0.79% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,203.82 ล้านบาท ลดลง 4.69% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.96% มาปิดที่ระดับ 399.90 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 ต.ค. – 3 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (31 ต.ค.–1 พ.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ และ BOE ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน
ข่าวเด่น