การตลาด
Scoop : จับจ่ายครึกครื้น ตลาดอาหารไทยโตต่อเนื่อง ธุรกิจร้านอาหารฟื้นตัว


 

สภาพเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้กำลังมีการฟื้นตัวขึ้นมาเรื่อยๆ จากทั้งสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2563 ที่เบาบางลง และประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง ตอนนี้สถานการณ์เงินเฟ้อในไทยก็มีการชะลอตัวลงมาจากที่ราคาน้ำมันและราคาของอาหารลดลงมาแล้ว อีกทั้งยังได้แรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวไทยที่เติบโตขึ้นจากที่นักท่องเที่ยวกลับเข้ามายังไทย ทำให้เรื่องของอาหารการกินก็มีเงินสะพัดเข้ามาด้วย โดยสะท้อนได้จากในตลาดอาหารและธุรกิจร้านอาหารของไทยที่มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
 
ภาพรวมของตลาดอาหารในประเทศไทยนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ Statista ฐานข้อมูลรวบรวมข้อมูลทางสถิติของตลาดและผู้บริโภค ได้มีการคาดการณ์ว่า รายได้ในตลาดอาหารไทยปี 2566 นี้ จะมีมูลค่ารวมประมาณ 67,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.55 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากอาหารส่วนหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 2.6 นั้น เป็นรายได้ที่เกิดจากการขายในช่องทางออนไลน์ อีกทั้งยังคาดว่า จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 2566-2572 อยู่ที่ร้อยละ 5.25 ต่อปี ซึ่งในปีหน้า 2567 นี้ก็ยังคาดการณ์อีกว่า มูลค่าตลาดอาหารในไทยจะอยู่ที่ 71,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.66 ล้านบาทเลยทีเดียว โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมปังและธัญพืช มีสัดส่วนมูลค่าตลาดมากที่สุด คิดเป็น 10,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 390,000 ล้านบาท นอกจากนี้ใน 5 อันดับแรกของมูลค่าตลาดอาหาร ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อสัตว์ ลูกอมขนมขบเคี้ยว กลุ่มเนื้อปลา อาหารทะเล และกลุ่มผัก เป็นสัดส่วนที่สร้างรายได้สูงสุดตามลำดับ
 
ส่วนธุรกิจร้านอาหารในไทย ก็มีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 4.35 แสนล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยของการเติบโตเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยว และการมีช่วงเทศกาลหยุดยาวหลายวัน และวันหยุดในช่วงปลายปีนี้ เป็นปัจจัยบวกที่จะดึงดูดเม็ดเงินจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดตรงที่การขยายตัวของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารยังไม่ทั่วถึง ผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ยังเผชิญโจทย์ท้าทาย อาทิ การแข่งขันที่รุนแรงในทุกเซ็กเมนต์และระดับราคา ต้นทุนธุรกิจที่ทรงตัวสูง และกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากปัญหาด้านเศรษฐกิจช่วงก่อนหน้า ทำให้รายได้และกำไรยังกลับมาไม่เท่าเดิมก่อนช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังมีเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรและการยืนระยะในการดำเนินธุรกิจที่ทำได้ยากจากระยะเวลาการคืนทุนที่นานขึ้นด้วย สะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนร้านอาหารที่สามารถยืนระยะอยู่รอดมากกว่า 3 ปีหลังการเปิดขาย มีเพียงแค่ร้อยละ 35 จากร้านอาหารเปิดใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ ร้านอาหารที่อาจเจอความท้าทาย ได้แก่ กลุ่ม Casual Dining เนื่องจากจำนวนผู้เล่นมีความหนาแน่นสูงในเซ็กเมนต์นี้ และกลุ่ม Quick Service Restaurant ที่เผชิญกับโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
 
อย่างไรก็ตาม ตลาดอาหารและธุรกิจร้านอาหารในไทยก็ยังมีทิศทางการเติบโตในระยะยาว เพราะปัจจัยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ส่งผลโดยตรงต่อตลาดนี้ให้เติบโตตามไปด้วย โดยเราสามารถเห็นสัญญาณการเติบโตที่เห็นชัดได้จากในตอนนี้ ที่ปกติหากพูดถึงร้านค้าผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบต่างๆสำหรับลูกค้ารายใหญ่ Makro ถือเป็นเจ้าตลาดค้าส่งเก่าแก่ที่เรารู้จักกันดีมาอย่างยาวนาน แต่ล่าสุดทาง Central Retail Corporation บริษัทธุรกิจการค้า ที่มีห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง Central นั้น ได้มองเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดอาหารดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมเล่นสนามนี้ ขยายธุรกิจร้านค้าส่งแบบ B2B ในชื่อ Go-Wholesale ซึ่งได้เปิดประเดิมสาขาแรกเป็นรูปแบบห้างขนาดใหญ่ที่ศรีนครินทร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังจะเปิดอีก 4 สาขาในสิ้นปีนี้ ได้แก่ เชียงใหม่ เปิดตัวเดือนพฤศจิกายนนี้ ตามด้วย อมตะนคร และ พัทยาใต้ จะเปิดในเดือนธันวาคม โดยที่ Go-Wholesale จะเน้นของสด 50% ของแห้งและเครื่องอุปโภคบริโภค 50% รวมแล้วมีสินค้าทั้งหมด 20,000 SKUs ที่มีจำหน่าย
 
สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด กล่าวถึงการเปิดห้างสรรพสินค้า Go-Wholesale ว่า ตลาดนี้ใหญ่พอที่จะมีผู้เล่นมากกว่า 1 ราย อีกทั้งสโลแกนของที่นี้คือ “The New Choice For All” ทางเลือกใหม่ที่สด ใหญ่ ดี ให้กับลูกค้าทุกแบบ นับว่าเป็นการท้าชน ตั้งตัวเป็นคู่แข่งกับ Makro เจ้าตลาดค้าส่งเก่าแก่ยักษ์ใหญ่โดยตรง และแสดงถึงสัญญาณเชิงบวกว่า ตลาดอาหารและธุรกิจร้านอาหารในไทย มีทิศทางการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารยังมีโอกาสและสามารถตักตวงผลกำไรในตลาดแห่งนี้ได้อีกมาก อีกทั้งยังเป็นตัวสะท้อนว่า ภาคการท่องเที่ยวและการบริการในไทย (ซึ่งเป็นตลาดที่เชื่อมโยงกัน) ได้กลับเข้ามาโตใกล้จุดเดิมก่อนช่วงปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ต.ค. 2566 เวลา : 19:57:00
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 11:29 am