เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน 66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว


น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายน ปี 2566 และไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยกิจกรรมในภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ  

 
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากราคาผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลด
 
ค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ 
 
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
 
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะ 1) เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน 
2) ตะวันออกกลาง และยุโรป ที่กลับมาขยายตัวหลังจากที่ชะลอไปในช่วงก่อนหน้า และ 3) จีน ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่าในช่วงปลายเดือน สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักแรมที่เพิ่มขึ้น 
 
 
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ 1) การส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกงที่ได้รับผลดีในช่วงที่มีงานจัดแสดงสินค้า 
2) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวขาวไปแอฟริกาใต้และเบนินเป็นสำคัญ และ 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปอินเดีย และแป้งมันสำปะหลังไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
 
 
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะการนำเข้า 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง จากเชื้อเพลิงและชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และวัสดุโลหะ 2) สินค้าทุน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับอุปสงค์ในอุตสาหกรรมดิจิทัล และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า หลังเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่  
 
 
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำตาลจากราคาน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น ด้านหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เพิ่มขึ้นตามรอบการผลิต รวมถึงหมวดยางและพลาสติกที่เพิ่มตามการผลิตยางแท่ง และยางรัดของ อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดยานยนต์ลดลง จากการผลิตรถกระบะที่ได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า 
ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงหมวดปิโตรเลียมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราว
 
 
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงจากยอดจดทะเบียนรถกระบะบรรทุก ตามกิจกรรมในภาคการผลิตที่ยัง
ฟื้นตัวไม่ชัดเจน และยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ลดลงจากหมวดมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัย และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ 
 
 
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงาน  และความเชื่อมั่นผู้บริโภค 
 
 
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และจากรายจ่ายลงทุนตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคม
 
 
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากราคาผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากทั้งภาคบริการและภาคการผลิต สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญา ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน 2) ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง และ 3) นักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
 
 
ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสก่อนตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการที่ปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นจากการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วน และปิโตรเลียมเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังจากได้เร่งไปก่อนหน้า ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามหมวดอาหารสดและหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่หมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซิน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายภาคบริการที่ลดลง
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2566 เวลา : 15:02:07
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 11:29 am