เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop: "เอลนีโญ" ภัยแล้งทำพิษ "คลองปานามา" จำกัดการเดินเรือขนส่ง ต้นเหตุสินค้าแพงขึ้นทั่วโลก


การขนส่งทางเรือนั้นนับว่าเป็นวิธีการขนส่งสินค้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด หากเทียบกับการขนส่งวิธีการอื่นๆ เช่น การขนส่งทางถนน หรือเครื่องบิน และยังสามารถบรรทุกสินค้าที่มีขนาดใหญ่และรองรับปริมาณได้มากอีกด้วย ฉะนั้นสินค้าส่วนใหญ่ทั่วโลกจึงนิยมขนส่งสินค้าด้วยวิธีที่ประหยัดต้นทุนที่สุดดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันหากเกิดความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับน่านน้ำ โดยเฉพาะเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญแล้วด้วยนั้น ต้นเหตุดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกันเป็นโดมิโน่จนทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจระดับโลกเลยก็ว่าได้
 
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในธรรมชาติของการเดินเรือ ที่บางช่วงเดือนเราอาจจะเจอกับมรสุม พายุ หรือสภาวะอากาศที่ไม่เป็นใจในการเดินเรือ แต่นั่นเทียบไม่ได้กับสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบรุนแรงกว่าช่วงปกติ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “เอลนีโญ” ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุกๆ 2-7 ปี ซึ่งในช่วงปกตินั้น ในมหาสมุทรแปซิฟิก (มหาสมุทรที่กั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา) จะมีกระแสลมหรือเรียกว่า ลมค้า (Trade winds) ซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตกของมหาสมุทรเดียวกัน ก่อให้เกิดกระแสน้ำอุ่นไหลจากทวีปอเมริกาใต้มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศในกลุ่มนี้มีฝนตกชุก แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้กระแสลมและกระแสน้ำอุ่นนั้นเกิดความแปรปรวน โดยกระแสลมค้าที่พัดจากตะวันออกไปตะวันตกนั้นมีกำลังอ่อนผิดปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นเกิดการย้อนทิศ ไหลออกกลับไปยังอเมริกาใต้แทน ความผิดปกติจากปรากฏการณ์นี้ ทำให้เกิดการขาดแคลนฝน และเกิดภัยแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกอย่าง “คลองปานามา”
 
คลองปานามา เป็นคลองขุดที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งถือเป็นโครงการวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดคลองโดยมนุษย์ขึ้นมา โดยคลองนี้เป็นเส้นทางสำคัญของการเดินเรือของโลก เรือขนส่งสินค้าทั่วโลกจะต้องเดินทางผ่านคลองนี้ เนื่องจากเป็นทางเชื่อมของ 2 มหาสมุทร ช่วยลดระยะการเดินทางจากอเมริกาฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก (ที่เดิมต้องอ้อมแหลมเคปฮอร์นทวีปอเมริกาใต้เป็นระยะทางราว 8,000 ไมล์ และใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์ แต่การเดินทางผ่านคลองนี้ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 10 ชั่วโมง) โดยในหนึ่งปีมีเรือจำนวนกว่า 14,000 ลำแล่นผ่านคลองปานามา หรือคิดโดยเฉลี่ยราว 39 ลำต่อวันหากเทียบจากปีที่แล้ว
 
แต่จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทางองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประกาศเตือนว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจะทำให้โลกร้อนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อนมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเอลนีโญครั้งนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงปี 2029 โดยเราก็ได้เริ่มเห็นจากที่ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา คลองปานามาประสบปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจัดว่าแห้งแล้งที่สุดในรอบ 73 ปี (ตั้งปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา) ทาง Panama Canal Authority (เอซีพี) หน่วยงานบริหารจัดการคลองปานามา จึงจำเป็นที่จะต้องทยอยลดปริมาณการสัญจรของเรือในคลองลง จากที่เคยมีการสัญจรของเรือโดยเฉลี่ยราว 39 ลำต่อวัน ก็ลดลงเป็น 32 ลำต่อวัน และในปัจจุบันนี้เหลือ 25 ลำต่อวัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะลดลงเหลือวันละ 18 ลำในเดือน ก.พ.ของปีหน้า
 
ด้วยข้อจำกัดนี้ ส่งผลให้การจราจรผ่านทางคลองปานามาล่าช้ามากขึ้น (โดยในเดือนส.ค.มีเรือที่เข้าคิวรอใช้คลองปานามามากที่สุดถึง 163 ลำ) ทำให้ต้นทุนของสินค้ามีมูลค่าที่สูงขึ้น รวมถึงสินค้าที่เน่าเสียง่ายก็จะมีราคาที่แพงขึ้น จากการเปลี่ยนวิธีการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อๆกันจนทำให้ราคาของอาหารและสิ่งของต่างๆมีราคาแพงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคโดยรวมและเศรษฐกิจระดับมหภาคเลยทีเดียว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ย. 2566 เวลา : 19:11:42
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 11:50 am