หุ้นทอง
ก.ล.ต. เดินหน้าเชิงรุก เปิดให้บริการ "สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน" ช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ


 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิด “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” สำหรับเป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสการหลอกลวงในตลาดทุนจากประชาชนได้โดยตรง พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรในตลาดทุนร่วมแจ้งเบาะแส และประสานความร่วมมือกับศูนย์ AOC กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเป้าเร่งปิดบัญชีม้า รวมทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในการปิดกั้นเนื้อหาของมิจฉาชีพโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและป้องกันความเสียหายจากการถูกหลอกลวงลงทุน

จากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งประชาชนได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรับข้อมูลข่าวสารและการใช้งานเพื่อสื่อสาร ในขณะเดียวกันมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ลงทุนผ่านรูปแบบและช่องทางใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก.ล.ต. พบว่า แนวโน้มของการหลอกลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมิจฉาชีพมักใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการหลอกลวงประชาชนด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ล่อลวงด้วยการเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง หรือการแอบอ้างใช้ภาพ และ/หรือชื่อ ของผู้บริหารของหน่วยงานในตลาดทุนมาชักชวน ให้ลงทุน เป็นต้น

 
ก.ล.ต. จึงเปิดให้มีช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อให้เป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนโดยตรง โทร 1207 กด 22 หรือแจ้งผ่านระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th/scamalert) หรืออีเมล scamalert@sec.or.th โดย ก.ล.ต. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบเบาะแสที่ได้รับและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดกั้นเนื้อหาหรือช่องทางการหลอกลงทุน โดยจะประสานกับ Meta (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram รวมทั้งประสาน LINE (ประเทศไทย) เพื่อปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพในแพลตฟอร์มดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นกับประชาชน

ทั้งนี้ การเปิดช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ก.ล.ต. ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้โครงการร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจุดประสงค์ ในการประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อต่อต้านมิจฉาชีพ ผ่านการจัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เตือนภัย หลอกลงทุนในช่องทางต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. และสื่อมวลชน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ช่วยประชาสัมพันธ์เตือนภัยด้วยดี รวมทั้งยังประสานความร่วมมือกับศูนย์ Anti Online Scam Operation Center (AOC) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดิจิทัลฯ) อีกด้วย

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ตระหนักถึงปัญหาภัยกลโกงในตลาดทุน ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและผู้ลงทุน โดยที่ผ่านมาได้เสริมสร้างความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นกลไก ในการปกป้องตนเองจากมิจฉาชีพ ซึ่งถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ ก.ล.ต. ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมเดินหน้าเชิงรุกด้วยการเปิดช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานพันธมิตรแจ้งเบาะแสโดยตรง โดย ก.ล.ต. จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและจำกัดความเสียหายไม่ให้กระจายออกไปสู่วงกว้าง”

นางอำไพ จิตรแจ่มใส ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เปิดตัว ศูนย์ Anti Online Scam Operation Center หรือศูนย์ AOC เพื่อเป็นศูนย์ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์แบบครบวงจร เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะปิดบัญชีม้า หรือ บัญชีเงินฝากที่คนร้ายใช้รับเงินให้ได้โดยไว เพื่อระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และพร้อมให้ความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับ ก.ล.ต.”

นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า “การเปิดช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ของ ก.ล.ต. นั้น สอดรับกับการเปิดศูนย์ AOC 1441 ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีการบูรณาการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ให้บริการแบบ one stop service แก่ประชาชน รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยออนไลน์ โดยมีเป้าหมายในการระงับและอายัดบัญชีของคนร้ายให้ทันท่วงที รวมทั้งผู้เสียหายยังสามารถติดตามสถานะการแก้ไขปัญหาได้ในทุกขั้นตอน”

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า “การเปิดสายด่วนแจ้งหลอกลงทุนในครั้งนี้จะช่วยสะกัดกั้นการหลอกลวงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภาคธุรกิจในตลาดทุนพร้อมให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. โดยจะร่วมแจ้งเบาะแสทันทีเมื่อพบการแอบอ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากการถูกหลอกลงทุน”

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้ร่วมริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” กับพันธมิตรว่า “ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ และพันธมิตรได้บูรณาการความร่วมมือในหลายด้าน รวมทั้งสื่อสารเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง การที่ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน จัดให้มีสายด่วนแจ้งหลอกลงทุนจะเป็นช่องทางให้ประชาชน ผู้ลงทุน และองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนในตลาดทุน เพื่อตัดวงจรการหลอกลวงของมิจฉาชีพเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นางสาวอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรหลายภาคส่วนและขยายกรอบความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ในหลายๆ เรื่องรวมถึงการรับมือปัญหาภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ทั้งทางด้านการรายงานเนื้อหาและการสร้างการตระหนักรู้และแคมเปญให้ความรู้เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เท่าทันกลลวง ในโอกาสนี้ เรามีความยินดีที่ได้เป็นพันธมิตรกับ ก.ล.ต. เพื่อร่วมกันรับมือกับปัญหาเร่งด่วนนี้ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของอุตสาหกรรมและในสังคมยุคดิจิทัลปัจจุบัน”

สำหรับสถิติการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ตุลาคม 2566 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการป้องปรามอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ (1) ขึ้นเตือนบนหน้าเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ Investor Alert เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อ จำนวน 265 ราย (2) ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อออกข่าวแจ้งเตือนประชาชน จำนวน 90 กรณี (3) ด้านการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการหลอกลงทุนที่แอบอ้างชื่อ/โลโก้ หรือภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต. มีจำนวน 10 กรณี (4) การดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กรณีอ้างผลตอบแทนสูง จำนวน 163 ราย และ (5) ดำเนินการส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาดำเนินการ จำนวน 85 กรณี

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ประชาชนระมัดระวังเมื่อถูกชักชวนลงทุน หากมีข้อสงสัยว่าเป็นบุคคล ผลิตภัณฑ์ หรือบริษัท ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ยังตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองได้ทันทีที่ www.sec.or.th/seccheckfirst หรือติดตั้งแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือติดต่อสอบถามข้อมูลที่สายด่วนได้เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในการหลอกลวงลงทุนในตลาดทุน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 พ.ย. 2566 เวลา : 12:25:38
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 10:12 pm