ก.ล.ต.เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ นายอรรถวุฒิ สกนธวัฒน์ นางสุจีรา สกนธวัฒน์ และนางสาวพิไลพิศ อัศวสุวรรณ์ กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TIGER) และกรณียินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีธนาคารของตน โดยเรียกให้ชำระเงินรวม 13,750,500 บาท พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติม พบการกระทำอันเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ในช่วงระหว่าง วันที่ 16 พฤศจิกายน – 28 ธันวาคม 2561 โดยนายอรรถวุฒิและนางสุจีราได้ร่วมกันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น TIGER ในลักษณะการทำราคาปิด การเคาะซื้อผลักดันราคาให้สูงขึ้น การครองคำเสนอซื้อและขาย* และจับคู่ซื้อขายกันเอง ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนายอรรถวุฒิ นางสุจีรา และนางสาวพิไลพิศ ซึ่งนางสาวพิไลพิศยินยอมให้นายอรรถวุฒิและนางสุจีราใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีเงินฝากธนาคารของตนในการซื้อขายและชำระ ค่าซื้อขายหลักทรัพย์ การร่วมกันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น TIGER ของนายอรรถวุฒิและนางสุจีราในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้น TIGER ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด โดยราคาเพิ่มจาก 3.50 บาท/หุ้น เป็น 4.50 บาท/หุ้น และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5.11 ล้านหุ้น เป็น 7.43 ล้านหุ้น
การกระทำของนายอรรถวุฒิและนางสุจีราดังกล่าวเป็นความผิดฐานสร้างราคาหุ้น TIGER ตามมาตรา 244/3 (1) และ (2) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 มาตรา 296/1 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งใช้บัญชีหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นในการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 297 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนการกระทำของนางสาวพิไลพิศ เป็นความผิดฐานยินยอมให้นายอรรถวุฒิและนางสุจีราใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และบัญชีธนาคารของตนเพื่อปกปิดตัวตนของนายอรรถวุฒิและนางสุจีรา อันเป็นการกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 297 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ** กับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงิน ในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) ให้นายอรรถวุฒิ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,836,479 บาท กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 10 เดือน และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 20 เดือน
(2) ให้นางสุจีรา ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6,836,479 บาท กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นเวลา 6 เดือน และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน
(3) ให้นางสาวพิไลพิศ ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้นรายละ 77,542 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 4 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิด ลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิด ไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษ ทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ :
* การครองคำเสนอซื้อและขาย คือ การส่งคำสั่งซื้อและขายในปริมาณมาก โดยอาจทำเพื่อลวงให้ผู้ลงทุนอื่นเข้าใจว่า สภาพตลาดในขณะนั้นมีความต้องการซื้อหรือขายมากกว่าความเป็นจริง และอาจเป็นการขัดขวาง การซื้อหรือขายหุ้นของผู้ลงทุนอื่น ทำให้ต้องส่งคำสั่งซื้อหรือขายในราคาในราคาที่สูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
** มาตรา 317/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ให้การกระทำความผิดอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้
ข่าวเด่น