ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 77-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 พ.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยตลาดยังคงกังวลเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ดีและโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจกดดันอุปสงค์น้ำมัน ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และเวเนซุเอลา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการคาดการณ์ของ OPEC เรื่องการเติบโตของอุปสงค์การใช้น้ำมันที่ยังคงเติบโต
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจโลกกดดันความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมเติบโตในระดับจำกัด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค อัตราการจ้างงานและผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ ตลาดยังคงจับตาการประชุม FED ในครั้งถัดไป เดือน ธ.ค. โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้ เนื่องจาก ต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ร้อยละ 2.0 ตามเป้าหมาย
• สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ในรายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ย. คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ ปี 2566 นี้หดตัว 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 20.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 20.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มลดลงไปอยู่ที่ 8.83 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า จาก 8.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ เนื่องจากความนิยมการทำงานในรูปแบบออนไลน์และการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำมันเบนซิน ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 66 คาดจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 12.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน
• สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าเวเนซุเอลา จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ราว 0.2 ล้านบาร์เรล ต่อ วัน มาอยู่ที่ 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567 หลังสหรัฐฯ ผ่อนคลายการคว่ำบาตร ส่งผลให้ประเทศเวเนซุเอลาสามารถดำเนินการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบในตลาดได้มากขึ้น
• ตลาดคลายความกังวลกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเนื่องจากความรุนแรงยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกมากนัก และ หน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ รวมถึงองค์การอนามัยโลกต่างออกมาประกาศเพื่อเรียกร้องให้หยุดยิงโดยทันที หลังหน่วยงานด้านการบรรเทาทุกข์ยังคงได้รับอันตรายจากการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน และยกระดับความรุนแรงมากขึ้น โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลรายงานว่า กองกำลังได้เคลื่อนกำลังพลทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้ ทั้งภาคพื้นดิน ทางอากาศ และทางน้ำเข้าสู่ใจกลาง “กาซาซิตี” ซึ่งเป็นเมืองหลักของฉนวนกาซาและคาดว่าเป็นศูนย์กลางของการก่อการร้าย
• ตลาดจับตารายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน พ.ย. ของสถาบันพลังงานหลักที่จะออกมาในสัปดาห์นี้ สำนักงานพลังงานสากล หรือ IEA (14 พ.ย.) และโอเปก (13 พ.ย.) ที่คาดการณ์ว่าจะยังคงความต้องการใช้น้ำมันโลก ปี 2567 เติบโตต่อเนื่อง โดย IEA คาดการณ์การเติบโตที่ 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่โอเปกคาดการณ์การเติบโตกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้มีความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกผันผวน ทั้ง อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
• เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เดือน ต.ค. 2566 และ ดัชนีราคาผู้ผลิต ต.ค. 2566 ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 2566 และ ผลผลิตทางอุตสาหกรรม ต.ค. 2566
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 พ.ย. 66)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 3.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือน ต.ค. 66 หดตัวกว่า 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัวเพียง 3.3% แสดงในเห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียแถลงยืนยันว่าจะเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันไปจนถึงสิ้นเดือนธ.ค. 66 โดยซาอุดิอาระเบียจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อคงกำลังการผลิตที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรัสเซียจะปรับลด 3 แสนบาร์เรลต่อวัน
ข่าวเด่น