ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารมีมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้ 3-4% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย และเศรษฐกิจจีนยังมีปัญหาภายในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง จะทำให้หลายประเทศมีปัญหา รวมถึงปัญหาการสงครามที่ยังคุกรุ่น จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจโลกน่ากังวลใจ
ดังนั้นในปีหน้าจำเป็นต้องประคองเศรษฐกิจให้เติบโตผ่านความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกไปให้ได้ โดยรัฐบาลควรออกมาตรการฟรีวีซ่า หรือ วีซ่าฟรี (Visa-Free) เพิ่มเติม ให้แก่นักท่องเที่ยวบางประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติและกระตุ้นการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่อง จากก่อนหน้าใช้มาตรการวีซ่าฟรี ยกเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยไปแล้วกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถาน และล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 เห็นชอบยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือ วีซ่าฟรี เพิ่มเติมอีก 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว โดยให้อยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 30 วัน มาตรการนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 66 – 10 พ.ค. 67 เป็นเวลา 6 เดือน
โดยจากสถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวจากอินเดียและไต้หวัน พบว่า ตั้งแต่เดือนม.ค. – กย. 66 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทย 1,162,251 คน และคาดว่าภายในสิ้นปี 66 จะเดินทางเข้าไทยอีกประมาณ 1.55 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายประมาณ 41,000 บาท/การมาท่องเที่ยว 1 ครั้ง ขณะที่ไต้หวัน ใช้จ่ายประมาณ 43,000 บาท/การมาท่องเที่ยว 1 ครั้ง คาดว่าภายในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 700,000 คน
ขณะที่ ด้านนักท่องเที่ยวจีน จากข้อมูล 8 เดือนแรกที่ผ่านมา(1 ม.ค.-27 ส.ค.66) มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาไทยแล้ว 2,182,038 คน เป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ขณะที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วกว่า 17,500,000 คน
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งสร้างท่าเทียบเรือฝั่งตะวันตก เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นอีกในระยะต่อไป รวมถึงเร่งแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากหากสามารถจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เข้ามาทำงานและอยู่ในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น จะช่วยยกระดับการวิจัยและพัฒนาประเทศไทยให้เร็วขึ้นได้
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ดร.กอบศักดิ์เชื่อว่าในปีหน้าจะยังไม่ปรับลดลง โดยจะคงอยู่ระดับที่ 2.50% ตลอดปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับมีมาตรการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจสวนทางกับดอกเบี้ยสหรัฐ หรือ เฟด ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณปรับลดลงช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
ดังนั้นมองว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น หลังจากธนาคารกลางต่างประเทศจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เช่น ธนาคารกลางออสเตรเลีย และแคนาดา รวมถึงเฟด จะทยอยลดดอกเบี้ยช่วงปลายปี ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น เนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดสามารถเริ่มขับเคลื่อนได้มากขึ้น และจะเริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศไทย
“ส่วนหุ้นไทยหากจะตกลงอีกก็อย่าตกใจ เพราะมั่นใจว่าระยะยาวเศรษฐกิจไทยเติบโตดี เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี ธนาคารพาณิชย์ยังมีฐานะแข็งแกร่ง แต่อาจต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี กว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้น” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ดี สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีหน้าที่ 3-4% ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ได้รวมผลของมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นราวกว่า 1% และส่วนตัวเห็นว่าการแจกเงินดิจัลวอลเล็ตต้องทำให้ง่ายที่สุด และตรงไปตรงมามากที่สุด ซึ่งการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการนี้ ถือว่าเริ่มมาถูกทางแล้ว เพราะการออก พ.ร.บ.กู้เงินต้องผ่านกระบวนการรัฐสภาที่สามารถตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใส ที่สำคัญโครงการนี้ควรทำให้ง่ายที่สุดและตรงไปตรงมากที่สุด
สำหรับผลกระทบจากของ พ.ร.บ.กู้เงินฯดังกล่าว ดร.กอบศักดิ์ประเมินว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 2-3% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 62-63% ต่อจีดีพี จากเดิมอยู่ที่ 61% ส่วนจะมีผลต่อการจัดอันดับเครดิต (Credit Rating) หรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศหรือไม่ มองว่าจะยังไม่มีผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามจากนี้ไปจนถึงการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก ทั้งเงื่อนไขผู้มีคุณสมบัติ และวงเงินที่ใช้ดำเนินการ จึงต้องรอดูความชัดเจนก่อนประเมินผลของมาตรการอีกครั้ง
ข่าวเด่น